บาลีวันละคำ

เสมอภาค (บาลีวันละคำ 2,556)

เสมอภาค

ทำยาก พูดง่าย

อ่านว่า สะ-เหฺมอ-พาก

ประกอบด้วยคำว่า เสมอ + ภาค

(๑) “เสมอ

รูปร่างเป็นคำไทย แต่ความหมายคล้ายบาลี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “เสมอ” ไว้ 3 คำ ที่มีความหมายเหมือนบาลีคือ “เสมอ ๑” บอกไว้ดังนี้ –

เสมอ ๑ : (คำวิเศษณ์) เท่ากัน, พอ ๆ กัน, เหมือนกัน, เช่น กรรมการตัดสินให้เสมอกัน ไม่มีใครแพ้ใครชนะ; เพียง, แค่, เช่น ราคาของ ๔๐,๐๐๐ บาท เห็นจะซื้อไม่ไหว เสมอสัก ๓๐,๐๐๐ บาท ก็พอจะสู้ได้.”

เสมอ” ตามความหมายนี้ตรงกับ “สม” และ “สมาน” ในบาลี

(1) “สม” บาลีอ่านว่า สะ-มะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = ห้อย, ย้อย) + ปัจจัย

: สมฺ + = สม แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ห้อยอยู่” (คืออยู่เคียงคู่กัน)

สม” ในบาลีเป็นคุณศัพท์ (ถ้าเป็นนาม เป็นปุงลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เรียบ, ได้ระดับ (even, level)

(2) เหมือนกัน, เสมอกัน, อย่างเดียวกัน (like, equal, the same)

(3) เที่ยงธรรม, ซื่อตรง, มีจิตไม่วอกแวก, ยุติธรรม (impartial, upright, of even mind, just)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สม” ไว้ 3 คำ ที่มีความหมายตรงกับบาลี คือ “สม– ๓” บอกไว้ดังนี้ –

สม– ๓ : (คำวิเศษณ์) เท่ากัน, เสมอกัน.”

ข้อสังเกต : “สม” ตามความหมายนี้ก็คือ “สม” ในบาลีสันสกฤตนั่นเอง แต่พจนานุกรมฯ ไม่ได้วงเล็บคำว่า “(ป., ส.).” ไว้ข้างท้าย (ดูเทียบที่อ้างคำว่า “สมาน” ข้างหน้า)

คำว่า “เสมอ” ที่มีความหมายตรงกับ “สม” พจนานุกรมฯ ยังเก็บไว้อีกคำหนึ่ง แต่เก็บเป็น “เสมอ ๆ” บอกไว้ดังนี้ –

เสมอ ๆ : (คำวิเศษณ์) เรียบราบ, ไม่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ, เช่น ปรับพื้นให้เสมอ ๆ กัน; ตลอดไป, บ่อยและเป็นประจำ, เช่น เขามาหาเสมอ ๆ.”

ความหมายที่ว่า “เรียบราบ, ไม่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ” ตรงกับความหมายของ “สม” ในข้อ (1) (ดูข้างต้น)

(2) “สมาน” บาลีอ่านว่า สะ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = ห้อย, ย้อย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ทีฆะ อะ ที่ –มฺ เป็น อา (สม > สมา)

: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ห้อยอยู่” คืออยู่เคียงคู่กัน หมายถึง เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same)

สมาน” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ 2 คำ ที่มีความหมายตรงกับบาลี คือ “สมาน– ๑” บอกไว้ดังนี้ –

สมาน– ๑ : (คำวิเศษณ์) เสมอกัน, เท่ากัน. (ป., ส.).”

จะเห็นได้ว่า “เสมอ” ในที่นี้มีความหมายตรงกับ “สม” และ “สมาน” ในบาลี จะอธิบายแบบ “ฉวยโอกาส” ด้วยเลยก็น่าจะได้ว่า “สม” (สะ-มะ)หรือ “สมาน” (สะ-มา-นะ) นั่นเองกลายรูปและเสียงเพี้ยนเป็น “เสมอ” ในภาษาไทย

(๒) “ภาค

บาลีอ่านว่า พา-คะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ภชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง เป็น

: ภชฺ + = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จำแนกผลดีหรือไม่ดีให้มากขึ้น

(2) ภชฺ (ธาตุ = เสพ) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ ภ-(ชฺ) เป็น อา, แปลง เป็น

: ภชฺ + = ภชณ > ภช > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลเสพ

(3) ภาชฺ (ธาตุ = จำแนก, แบ่ง) + ปัจจัย, ลบ , แปลง เป็น

: ภาชฺ + = ภาชณ > ภาช > ภาค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาแบ่งออก

ภาค” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ส่วน, ภาค, อนุภาค, ส่วนแบ่ง (part, portion, fraction, share)

(2) ส่วน (ของเงิน) ที่แบ่งให้, ค่าธรรมเนียม, ค่าจ้างรางวัล (apportioned share (of money), fee, remuneration)

(3) ส่วนของพื้นที่, สถานที่, ภูมิภาค (division of space, quarter, side, place, region)

(4) ส่วนของเวลา, เวลา (division of time, time)

ในที่นี้ “ภาค” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ภาค, ภาค– : (คำนาม) ส่วน เช่น ภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ, ฝ่าย เช่น ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคเหนือ ภาคใต้, บั้น, ตอน, เช่น หนังสือภูมิศาสตร์ ภาคต้น หนังสือประวัติศาสตร์ภาคปลาย พงศาวดารภาค ๑, คราว เช่น การศึกษาภาคฤดูร้อน, ส่วนของประเทศที่แบ่งออกเป็นส่วนย่อยเพื่อสะดวกในด้านการปกครอง การศึกษา การทหาร เป็นต้น เช่น เจ้าคณะภาค แม่ทัพภาค. (ป.).”

เสมอ + ภาค = เสมอภาค แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เสมอกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เสมอภาค : (คำวิเศษณ์) มีส่วนเท่ากัน, เท่าเทียมกัน, เช่น ในปัจจุบันบุรุษและสตรีมีสิทธิเสมอภาคกัน.”

อภิปราย :

เสมอภาค” เป็นทฤษฎีทางสังคมชนิดหนึ่ง มีหลักการอยู่ว่า มนุษย์ย่อมมีความเสมอภาคกัน หมายความว่า ในทางสังคมไม่มีใครสูงไม่มีใครต่ำกว่ากัน ไม่มีผู้ใหญ่ไม่มีผู้น้อย ทุกคนเสมอภาคกัน ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษแตกต่างไปจากคนอื่น

…………..

กล่าวเฉพาะทางพระพุทธศาสนา มีหลักคำสอนที่ระบุว่า ทุกคนเสมอภาคกันในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พูดภาษาธรรมดาว่า ทุกคนที่เกิดมาต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเสมอภาคกัน ไม่มีใครได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องแก่ ไม่ต้องเจ็บ หรือไม่ต้องตาย

ในจูฬกัมมวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 14 ข้อ 581 มีพระพุทธพจน์แสดงไว้ว่า –

กมฺมํ  สตฺเต  วิภชติ  ยทิทํ  หีนปฺปณีตตาย.

(กัมมัง  สัตเต  วิภะชะติ  ยะทิทัง  หีนัปปะณีตะตายะ)

แปล: กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและดีแตกต่างกัน

นั่นแสดงว่า เพราะการกระทำของตัวเอง มนุษย์จึงไม่อาจเสมอภาคกันไปหมดได้ทุกเรื่อง

ในแง่การปฏิบัติต่อกันสำหรับคนทั่วไป พระพุทธศาสนาสอนว่าให้มองทุกชีวิตว่าเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น ที่รู้กันว่าเป็นการแผ่เมตตา แก่นแท้ของเมตตาคือการมองทุกชีวิตว่าเป็นมิตรรักของเราเสมอภาคกัน (เป็นความรู้สึกจากใจจริง ไม่ใช่ท่องบ่นจนจำได้)

ในแง่ปฏิบัติต่อกันเฉพาะบุคคลที่อยู่ในฐานะต่างๆ พระพุทธศาสนาสอนเรื่อง “ทิศหก” คือใครอยู่ในฐานะใด ก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามฐานะนั้นซึ่งแตกต่างกันไปตามฐานะของแต่ละบุคคล ในแง่นี้แสดงว่ามนุษย์ไม่ได้มีฐานะเสมอภาคกัน

ในแง่การประพฤติปฏิบัติธรรม พระพุทธศาสนาแสดงว่า ไม่ว่าบุคคลจะมีฐานะทางสังคมแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม เมื่อมาสู่พระธรรมวินัย มีศีลเสมอกัน มีสัมมาทิฐิเสมอกัน ปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผล ย่อมมีความเสมอภาคกันโดยธรรม

…………..

อย่างไรก็ตาม มีสุภาษิตบทหนึ่งในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ดังนี้ –

ยตฺถ อลโส จ ทกฺโข จ

สูโร ภีรุ จ ปูชิยา

น ตตฺถ สนฺโต วสนฺติ

อวิเสสกเร นเค.

ที่มา: เนรุชาดก ฉักนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 853

พากย์ไทยว่า –

ในที่ใด คนเกียจคร้านกับคนขยัน

คนกล้าหาญกับคนขลาด

ได้รับการยกย่องเสมอภาคกัน

สัตบุรุษย่อมไม่อยู่ในที่นั้น

อันเป็นที่ซึ่งไม่สามารถจะแยกคนให้ต่างกันได้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *