จนฺตลิกฺเข (บาลีวันละคำ 2,909)
จนฺตลิกฺเข แปลว่าอะไร
คำที่ตาเห็น อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ใจคิด
คำว่า “จนฺตลิกฺเข” อ่านว่า จัน-ตะ-ลิก-เข เป็นคำที่ยกมาจากบท “ชุมนุมเทวดา” เป็นข้อความในคาถาบาทหนึ่งว่าดังนี้
เขียนแบบบาลี:
สคฺเค กาเม จ รูเป คิริสิขรตเฏ จนฺตลิกฺเข วิมาเน
เขียนแบบคำอ่าน:
สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน
มีผู้ถามว่า คำว่า “จนฺตลิกฺเข” แปลว่าอะไร
เบื้องต้นควรทราบก่อนว่า รูปเดิมของคำนี้ไม่ใช่ “จนฺตลิกฺเข” อย่างที่ตาเห็น
แต่เป็น จ + อนฺตลิกฺเข = จนฺตลิกฺเข
“จ” อ่านว่า จะ เป็นคำจำพวกที่เรียกว่า “นิบาต” อยู่ในกลุ่ม “นิบาตสำหรับผูกศัพท์และประโยค” นักเรียนบาลีท่องจำกันว่า “นิบาตสำหรับผูกศัพท์และประโยค มีอัตถะเป็นอเนก, จ (จะ) = ด้วย, อนึ่ง, ก็, จริงอยู่”
หมายความว่า “จ” แปลว่า “ด้วย, อนึ่ง, ก็, จริงอยู่” คำใดคำหนึ่ง เมื่อใดควรจะแปลคำใด ขึ้นอยู่กับรูปประโยคหรือที่เรียกกันว่า “บริบท”
ในคำว่า “จนฺตลิกฺเข” นี้ “จ” แปลว่า “ด้วย”
“ด้วย” ในที่นี้หมายถึง “และ” หรือ and ในภาษาอังกฤษ
เช่น “ภิกฺขุ จ สามเณโร จ” (พิก-ขุ จะ สา-มะ-เน-โร จะ)
แปลว่า “ภิกษุด้วย สามเณรด้วย” หรือ “ภิกษุและสามเณร” (a monk and a novice)
ในกรณีที่ “จ” แปลว่า “ด้วย” หรือ “และ” จะต้องมีคำนามหรือคำกริยาตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป (นามก็นามทั้ง 2 คำ กริยาก็กริยาทั้ง 2 คำ) โดยใช้ “จ” อยู่หลังคำนั้นๆ เช่น “ภิกฺขุ จ สามเณโร จ”
ย้อนไปดู “จนฺตลิกฺเข” ข้างต้น ข้อความเต็มคือ –
“สคฺเค กาเม จ รูเป คิริสิขรตเฏ จนฺตลิกฺเข วิมาเน”
แปลว่า –
(ขอเชิญเหล่าเทพเจ้าซึ่งสถิตอยู่) –
(1) ในสวรรค์ชั้นกามภพด้วย
(2) ในสวรรค์ชั้นรูปภพด้วย
(3) ในวิมานเหนือยอดเขาและเพิงผาด้วย
(4) ในวิมานในอากาศด้วย
ตามคำแปลนี้ จึงสามารถจัดคำบาลีเป็นกลุ่มได้ดังนี้ –
(1) กาเม สคฺเค จ = ในสวรรค์ชั้นกามภพด้วย
(2) รูเป สคฺเค จ = ในสวรรค์ชั้นรูปภพด้วย
(3) คิริสิขรตเฏ วิมาเน จ = ในวิมานเหนือยอดเขาและเพิงผาด้วย
(4) อนฺตลิกฺเข วิมาเน จ = ในวิมานในอากาศด้วย
เมื่อจัดระเบียบถ้อยคำตามหลักภาษาแล้ว “จนฺตลิกฺเข” ที่ตาเห็นนั้นก็ไม่มี มีแต่ “อนฺตลิกฺเข … จ”
เป็นอันว่า คำนั้นคือ “อนฺตลิกฺเข” ไม่ใช่ “จนฺตลิกฺเข” อย่างที่ตาเห็น
จะเห็นได้ว่า ภาษาบาลีมีหลักเกณฑ์ที่ละเอียด เพียงแค่ตาเห็นแล้วจะคิดเอาเองเข้าใจเอาเองหาได้ไม่ ต้องรู้หลัก
และหลักนั้นก็ไม่ยากเกินที่จะเรียนรู้
เรียนรู้ต่อไปอีกหน่อยหนึ่งว่า คำนั้นคือ “อนฺตลิกฺเข” ไม่ใช่ “จนฺตลิกฺเข” และ “อนฺตลิกฺเข” นี้รูปคำเดิมคือ “อนฺตลิกฺข” (อัน-ตะ-ลิก-ขะ)
“อนฺตลิกฺข” เปลี่ยนรูปเป็น “อนฺตลิกฺเข” เพราะแจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกพจน์
รู้สึกว่าชักจะยุ่งยากมากขึ้น วิภัตตินามที่เจ็ดคืออะไร เอกพจน์คืออะไร
เรียนบาลีจึงต้องเริ่มด้วยการ “ท่องหลัก” คำศัพท์พวกนี้มีอยู่ใน “หลัก” แค่ท่องหลักได้ เห็นคำพวกนี้ก็เข้าใจได้ตลอดทั้งสาย และใช้ได้ตั้งแต่ประโยค 1-2 จนถึงประโยค ป.ธ.9
เรียนบาลีจึงไม่ยากอย่างที่คิด
“อนฺตลิกฺข” แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ที่เป็นเหตุให้ชาวโลกมองเห็นชนิดคือความต่างของวัตถุนั้นๆ ได้”
(2) “ขอบเขต คือเหตุแห่งการดูการเห็น”
(3) “ที่เป็นเครื่องให้เขาขีด คือดูข้างต้นข้างปลายได้”
นักเรียนบาลีมักเข้าใจว่า “อนฺตลิกฺข” คือท้องฟ้า (sky)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนฺตลิกฺข” ว่า the atmosphere or air (กลางหาว หรืออากาศ)
โปรดสังเกตว่า ฝรั่งที่รู้บาลีไม่ได้แปล “อนฺตลิกฺข” ว่า sky
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกด้วยว่า “อนฺตลิกฺข” แปลตรงตัวว่า “situated in between sky and earth” (ตั้งอยู่ระหว่างท้องฟ้าและพื้นดิน)
คำว่า “อุตุนิยมวิทยา” ที่เราใช้กันนั้น คำอังกฤษว่า meteorology
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล meteorology เป็นบาลีว่า “อนฺตลิกฺขวิชฺชา” (อัน-ตะ-ลิก-ขะ-วิด-ชา)
“อนฺตลิกฺข” คำเดียวกับที่เราเห็นเป็น “จนฺตลิกฺเข” นั่นแหละ
ดังนั้น อนฺตลิกฺขวิชฺชา > meteorology > อุตุนิยมวิทยา จึงมีความหมายว่า วิทยาการว่าด้วยธรรมชาติเหนือพื้นดินขึ้นไปจนถึงชั้นบรรยากาศซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ทั้งนี้เพื่อพยากรณ์หรือคาดหมายว่าเมื่อใดจะเกิดภาวะเช่นใดขึ้น ณ บริเวณใด
ขึ้นต้นด้วย “จนฺตลิกฺเข” ลงท้ายด้วย “อุตุนิยมวิทยา”
แต่ก็คงไม่ผิดหลัก เพราะ –
“อุตุนิยมวิทยา” คือ meteorology
meteorology คือ “อนฺตลิกฺขวิชฺชา”
มีคำว่า “อนฺตลิกฺข” คำเดียวกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใช้ภาษาบาลีต้องมีหลัก
อย่าทึกทักคิดเอาเอง
: ปฏิบัติธรรมต้องยำเกรง
การล้ำลึกอย่านึกเอา
#บาลีวันละคำ (2,909)
30-5-63