บาลีวันละคำ

กามนิต (บาลีวันละคำ 1,191)

กามนิต

บาลีเป็น “กามนีต” (กา-มะ-นี-ตะ)

ประกอบด้วย กาม + นีต

(๑) “กาม” (กา-มะ)

รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(มฺ) เป็น อา (กม > กาม)

: กมฺ + = กมณ > กม > กาม แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ทำให้ปรารถนา” (2) “อาการที่ปรารถนา” (3)“ภาวะอันสัตวโลกปรารถนา

กาม” หมายถึง –

(1) ความรื่นรมย์, สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลิน, สิ่งที่ให้ความบันเทิงทางกาม (pleasantness, pleasure-giving, an object of sensual enjoyment)

(2) ความสนุกเพลิดเพลิน, การพึงพอใจจากการรู้สึก (enjoyment, pleasure on occasion of sense)

(3) ความใคร่ (sense-desire)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กาม, กาม– : (คำนาม) ความใคร่, ความใคร่ทางเมถุน. (ป., ส.).”

(๒) “นีต” (นี-ตะ)

รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ปัจจัย

: นี + = นีต

กฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ :

นีต” เป็นคำกริยาอดีตกาลของกริยาปัจจุบันกาล “เนติ” (เน-ติ) หรือ “นยติ” (นะ-ยะ-ติ) :

(๑) เนติ, นยติ (ปัจจุบันกาล) แปลว่า นำ, ชี้ทาง, นำไป; ถือไป, นำเอาไป (to lead, to guide, to conduct; to take, to carry)

(๒) นีต (อดีตกาล) แปลว่า ถูกนำ, ถูกนำทาง, ถูกนำไป; ถูกเอาไป, ถูกถือไป (led, guided, conducted; taken, carried)

โปรดเทียบคำอังกฤษ จะช่วยให้เห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น

กาม + นีต = กามนีต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันกามนำไป” คือผู้ที่ถูกกามชักจูงไป หมายถึงผู้ที่กระเสือกกระสน ดิ้นรน ไขว้คว้า แสวงหาสิ่งตนปรารถนาอยากได้อยู่เรื่อยไป

กามนีต” ถ้าเขียนตามรูปคำเดิม ต้องอ่านว่า กาม-มะ-นีด แต่เนื่องจากเป็นชื่อเฉพาะจึงสะกดตามประสงค์ของผู้เขียนเป็น “กามนิต” อ่านว่า กาม-มะ-นิด

ในคัมภีร์มีชาดกเรื่อง “กามนีตชาดก” (กา-มะ-นี-ตะ-ชา-ดก) ก็ตรงกับชื่อ “กามนิต” นั่นเอง แต่เนื้อเรื่องไม่เหมือนกัน

กามนิต” ในภาษาไทยเป็นชื่อนวนิยายที่จัดเป็นวรรณกรรมชนิดหนึ่ง

วรรณกรรมเรื่องกามนิต ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาเยอรมัน ชื่อ Der Pilger Kamanita กวีและนักเขียนชาวเดนมาร์กชื่อ Karl Adolph Gjellerup (ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีปี พ.ศ.๒๔๖๐) เป็นผู้เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙

ต่อมา นาย John E. Logie ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ให้ชื่อว่า The Pilgrim Kamanita

“เสฐียรโกเศศ” (พระยาอนุมานราชธน) และ “นาคะประทีป” (พระสารประเสริฐ) แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ และพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ให้ชื่อในภาษาไทยว่า “กามนิต

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการนำไปพิมพ์เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียน เปลี่ยนชื่อเป็น “วาสิฏฐี” ตามชื่อนางเอก

อำนาจของปรารถนา :

กณฺหาหิ  ทฏฺฐสฺส  กโรนฺติ  เหเก

อมนุสฺสวิฏฺฐสฺส  กโรนฺติ  ปณฺฑิตา

น  กามนีตสฺส  กโรติ  โกจิ

โอกฺกนฺตสุกฺกสฺส  หิ  กา  ติกิจฺฉา.

คนถูกงูเห่ากัด หมอบางคนก็รักษาได้

คนถูกผีสิง หมอฉลาดๆ ก็ไล่ออกได้

แต่คนที่ถูกความปรารถนาจูงไป ใครก็รักษาไม่หาย

เมื่อล่วงละเมิดธรรมะเสียแล้ว จะรักษากันท่าไหนเล่า

(กามนีตชาดก ทุกะนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๐๖)

2-9-58

ต้นฉบับ