บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เพื่อนบุณย์

———-

บุญนี้มิไกล ใครปัญญาไว หาได้บ่นาน

———–

“เพื่อนบุณย์” เป็นชื่อบทที่สิบสามของวรรณกรรมเรื่อง กามนิต ผลงานแปลระดับคลาสสิกของปราชญ์ทางภาษา ๒ ท่านของไทย คือ “เสฐียรโกเศศ” (พระยาอนุมานราชธน) และ “นาคะประทีป” (พระสารประเสริฐ)

วรรณกรรมเรื่องกามนิต ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาเยอรมัน ชื่อ Der Pilger Kamanita กวีและนักเขียนชาวเดนมาร์กชื่อ Karl Adolph Gjellerup (ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณคดีปี พ.ศ.๒๔๖๐) เป็นผู้เขียนเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙

ต่อมา John E. Logie ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ให้ชื่อว่า The Pilgrim Kamanita

“เสฐียรโกเศศ” และ “นาคะประทีป” แปลจากฉบับภาษาอังกฤษ และพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๓ ให้ชื่อในภาษาไทยว่า “กามนิต

ต่อมากระทรวงศึกษาธิการนำไปพิมพ์เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียน เปลี่ยนชื่อเป็น “วาสิฏฐี” ตามชื่อนางเอก

(กระซิบกระซาบกันว่า ท่านผู้ทรงอำนาจในกระทรวงฯ สมัยนั้นเห็นคำว่า “กาม–” แล้วเกรงว่านักเรียนจะจั๊กจี้ในหัวใจจนเสียการเรียน!)

ในฉบับภาษาอังกฤษมีคำโปรยบนปกว่า The Pilgrim Kamanita ~ A Legendary Romance ~ ซึ่งอาจจะแปลง่ายๆ ว่า-ตำนานรักนักบุญ

ชื่อบท “เพื่อนบุณย์” –บุณย์ สะกดตามสันสกฤต ปุณฺย (บาลี: ปุญฺญ ใช้เป็นสามัญในภาษาไทยว่า “บุญ”) อันเป็นไปตามความนิยมของภาษาไทยในสมัยนั้นและเป็นรสนิยมของท่านผู้แปลด้วย

“เพื่อนบุณย์” เป็นเหตุการณ์ตอนที่กามนิตอกหักมาจากกรุงโกสัมพีเนื่องจากไปพบว่าวาสิฏฐี-นางในดวงใจ แต่งงานกับสาตาเคียรบุตรประธานมนตรี เมื่อกลับเมืองอุชเชนีบ้านเกิดก็เปลี่ยนนิสัยไปใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาอย่างชายเจ้าสำราญ

เมื่อเห็นใครทำอะไรได้ฉับไวผิดคาด ในภาษาไทยเคยมีสำนวนพูดว่า “รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม

สำนวน “รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม” มีที่มาจากเรื่องในตอน “เพื่อนบุณย์” นี้

อยากทราบว่าเหตุผลเป็นประการใด-ต้องตามไปอ่าน

กามนิต-เป็นหนังสือแปลสำนวนงดงามสุดอลังการในภาษาไทย

เป็นนวนิยายอิงพุทธประวัติ นอกจากภาษาที่ไพเราะสละสลวยแล้ว ยังอุดมไปด้วยคติธรรมและปรัชญาชีวิต กลวิธีวางโครงเรื่องแบบสลับฉาก-ย้อนเหตุการณ์ ชวนติดตามตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ 

กามนิตเป็นเหมือนสะพานที่จะเชื่อมโยงให้ผู้อ่านก้าวไปเรียนรู้พระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ อีกมากมาย

แต่น่าเสียดาย-กามนิตเป็นหนังสือดีที่คนสมัยใหม่ไม่อ่าน!

———–

ผมมีไฟล์ฉบับภาษาไทยเต็มๆ 

ไฟล์ฉบับภาษาอังกฤษ 

และไฟล์ฉบับภาษาเยอรมัน

ญาติมิตรท่านใดปรารถนาจะเสพอรรถรสอันโอชะทั้งทางโลกและทางธรรมผ่านทางจอคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องเสียเวลาไปควานหาจากที่ใดๆ 

โปรดแจ้งความจำนงไปทางกล่องข้อความ

“เพื่อน” มีไว้สำหรับอำนวยประโยชน์ให้เพื่อนตามแนวทางที่เราถนัด

———–

———–

ผมเดินออกกำลังเช้านี้ (๒ กันยายน) ได้บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุอย่างน้อยก็ ๓ ข้อ คือ –

ทานมัยทำบุญให้ทาน 

บริจาคเงินใส่ตู้บริจาคบนหอพระภายในโรงพยายบาลราชบุรี

อปจายนมัยทำบุญไหว้พระ 

ระหว่างทางพบพระสงฆ์หลายรูปออกบิณฑบาต เมื่อพบพระสงฆ์ในโอกาสเช่นนี้ ถ้าท่านกำลังเดินสวนมา ผมจะหลบเข้าข้างทาง ยืนตรง ถอดหมวก ในโอกาสอื่นผมสวมรองเท้าแตะก็จะถอดรองเท้าด้วย แต่เวลาเดินออกกำลังผมสวมรองเท้ากีฬา ถอดไม่สะดวก ในใจน้อมนึกขอขมาที่สวมรองเท้าไหว้พระ เมื่อท่านเดินมาใกล้ผมก็น้อมไหว้ รอจนท่านผ่านไปแล้วจึงสวมหมวก ออกเดินต่อ ถ้าเห็นท่านจากคนละฟากถนน หรือเห็นไกลๆ ผมก็เพียงถอดหมวกน้อมไหว้

ปัตตานุโมทนามัยทำบุญโมทนา

พบเห็นคนกำลังใส่บาตรและรอใส่บาตรหลายราย ผมน้อมจิตอนุโมทนาทุกราย

วันนี้เห็นสุภาพสตรีคนหนึ่งกำลังใส่บาตรอยู่ข้างหน้า พอผมเดินใกล้จะถึงก็ใส่เสร็จพอดี ผมไหว้พระ พระท่านเดินไปทางหนึ่ง คนใส่บาตรเดินมาทางผม

โมทนาบุญด้วยครับ” ผมเอ่ยพร้อมกับพนมมือ

เธอหยุดเดิน ยกมือพนมรับ เอ่ยตอบว่า “โมทนาสาธุ

ผมพบว่าปฏิกิริยาตอบรับจะเป็นไปในลักษณาการนี้ทุกครั้งทุกคน

เราไม่รู้จักกัน ไม่เคยเห็นกัน ถึงเจอกันอีกก็คงจำกันไม่ได้

แต่เราเป็น “เพื่อนบุณย์” กันได้

และบุญนี้มิไกล ใครปัญญาไว หาได้บ่นาน

อนุโมทนาบุญโดยทั่วกันนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ กันยายน ๒๕๕๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *