บาลีวันละคำ

ชาตกาล (บาลีวันละคำ 1,226)

ชาตกาล

อ่านได้ 2 อย่าง คือ ชา-ตะ-กาน และ ชาด-ตะ-กาน

ประกอบด้วย ชาต + กาล

(๑) “ชาต

บาลีอ่านว่า ชา-ตะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา

: ชนฺ + = ชนต > ชาต แปลว่า “เกิดแล้ว” = การเกิดได้มีขึ้นเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่กำลังเกิด หรือจักเกิด ในภาษาบาลีมักใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์

คำที่คล้ายกับ “ชาต” คือ “ชาติ” (ชา-ติ) มาจากธาตุตัวเดียวกัน แต่ปัจจัยคนละตัว คือ “ชาติ” รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย, แปลง ชนฺ เป็น ชา

: ชนฺ + ติ = ชนติ > ชาติ แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีเป็นคำนาม ใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ :

1 การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)

2 ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)

3 จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)

4 ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. Artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])

โปรดสังเกต :

ชาติ = การเกิด (birth)

ชาต = เกิดแล้ว (born)

(๒) “กาล

บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)

: กลฺ + = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :

1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

ชาต + กาล = ชาตกาล แปลตามศัพท์ว่า “เวลาที่-เกิดแล้ว” หมายถึง ปีที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเกิดและนับมาจนถึงปีปัจจุบัน เช่น พ.ศ.2559 จะมีการจัดงาน “100 ปีแห่งชาตกาล ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” คือ พ.ศ.2559 เป็นปีที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เกิดมาครบ 100 ปี

ชาตกาล” เป็นคำที่มีผู้คิดขึ้นใช้เมื่อไม่นานมานี้

คำนี้ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

มีคำถามว่า คำว่า “ชาตกาล” ใช้กับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ได้หรือไม่ เช่น 80 ชาตกาลคุณพ่อ…(ซึ่งยังมีชีวิตอยู่)

อภิปราย :

การจัดงานปรารภอายุของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เรานิยมจัดเมื่อครบรอบปีนักษัตร คือรอบ 12 ปี เช่นเมื่อมีอายุ 24, 36, 48, 60, 72, 84, 96 ฯลฯ ไม่นิยมจัดในระหว่างที่ยังไม่ครบรอบ อาจเป็นเพราะยังไม่มีเหตุผลที่สมควรอันเนื่องด้วยเงื่อนเวลาที่นับจากปีเกิดของผู้นั้น

ตามหลักนี้ “ชาตกาล” ย่อมเหมาะที่จะใช้เฉพาะกับบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงที่ดีงามหรือมีคุณูปการแก่สังคมในทางใดทางหนึ่ง

: อายุยืน ไม่เป็นเหตุให้สังคมจัดฉลองชาตกาล

: คนส่วนมากทุ่มเทเพื่อให้ตนมีอายุยืนนาน

: แต่มักไม่ได้ทุ่มเทเพื่อสร้างคุณูปการแก่สังคม

———–

(ตามคำถามของ Naitor Ngernkong)

7-10-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย