ภาพยนตร์ (บาลีวันละคำ 1,227)
ภาพยนตร์
อ่านว่า พาบ-พะ-ยน
ประกอบด้วยคำว่า ภาพ + ยนตร์
(๑) “ภาพ”
รูปคำเหมือนจะมาจาก “ภาว” (พา-วะ) ในบาลี
“ภาว” รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อู เป็น โอ, แปลง โอ เป็น อาว
: ภู + ณ = ภูณ > ภู > โภ > ภาว แปลตามศัพท์ว่า “ความมี” “ความเป็น”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภาว” ไว้ดังนี้ –
(1) being, becoming, condition, nature (ความมี, ความเป็น, ภาวะ, ธรรมชาติ)
(2) cultivation or production by thought, mental condition (การปลูกฝัง หรือการผลิตผลด้วยความคิด, ภาวะทางใจ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภาว-, ภาวะ : (คำนาม) ความมี, ความเป็น, ความปรากฏ, เช่น ภาวะน้ำท่วม ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ. (ป., ส.).”
ภาว แปลง ว เป็น พ = ภาพ
ความหมายของ “ภาพ” ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –
(1) ความ, ความมี, ความเป็น, มักใช้ประกอบเป็นส่วนท้ายของคำสมาส เช่น มรณภาพ ว่า ความตาย.
(2) รูปที่ปรากฏเห็นหรือนึกเห็น เช่น ภาพทิวทัศน์ ภาพในฝัน.
(3) สิ่งที่วาดขึ้นเป็นรูปหรือสิ่งที่ถ่ายแบบไว้ เช่น ภาพสีน้ำมัน ภาพถ่าย.
ข้อสังเกต :
๑ ในคำว่า “ภาพยนตร์” นี้ “ภาพ” มีความหมายตามข้อ (3) ซึ่งไม่ใช่ความหมายของ “ภาว” ในภาษาบาลี
๒ ควรตั้งข้อสงสัยว่า “ภาพ” ที่หมายถึง “สิ่งที่วาดขึ้นเป็นรูปหรือสิ่งที่ถ่ายแบบไว้” นี้ มาจาก “ภาว” ในบาลีสันสกฤตหรือว่ามาจากภาษาอะไรกันแน่
(๒) “ยนตร์”
เป็นรูปคำสันสกฤต “ยนฺตฺร” (ยัน-ตฺระ)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) (ธาตุ = รากศัพท์) ห้าม; to restrain or forbid.
(2) (คำนาม) เครื่องยนตร์ทั่วไป; การห้ามหรือระงับ;a machine, any implement or apparatus; restraining or checking.
ยนตร์ < ยนฺตฺร บาลีเป็น “ยนฺต” มีรากศัพท์ดังนี้ –
(1) ยา (ธาตุ = ไป, ถึง) + อนฺต ปัจจัย, ลบ อา สระที่สุดธาตุ (ยา > ย)
: ยา > ย + อนฺต = ยนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปถึงกิริยานั้น” คือแสดงกิริยานั้นๆได้ “สิ่งที่ทำอาการนั้นๆ ไปด้วยมือและเท้าเป็นต้น”
(2) ยตฺ (ธาตุ = พยายาม) + อ ปัจจัย ซ้อน นฺ
: ยตฺ < ย + นฺ + ต = ยนฺต + อ = ยนฺต แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องมือที่พยายามในการยกขึ้นยกลงเป็นต้นได้” = หุ่นยนต์
ยนฺต หมายถึง วิธีการสำหรับหยิบจับ, สิ่งที่คิดขึ้น, อุบาย, เครื่องมือ, เครื่องยนต์, กลไก (a means for holding, contrivance, artifice, instrument, machine, mechanism)
ยนฺต > ยนฺตฺร ในภาษาไทยใช้เป็น ยนต์, ยนตร์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยนต์, ยนตร์ : (คำนาม) เครื่องกลไก, เครื่องจักรที่ให้กําเนิดพลังงานหรือทําให้วัตถุเคลื่อนที่. (ป. ยนฺต; ส. ยนฺตฺร).”
ภาพ + ยนตร์ = ภาพยนตร์ แปลตามความหมายในภาษาไทยว่า “ภาพที่แสดงเรื่องต่างๆ ได้ด้วยเครื่องกลไก” หรือ “เครื่องกลไกที่แสดงภาพ”
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“ภาพยนตร์ : (คำนาม) ภาพฉายด้วยเครื่องทําให้เห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวได้, หนังฉาย.”
โปรดสังเกตว่า “ยนฺต” ในบาลี และ “ยนฺตฺร” ในสันสกฤต เราเอามาใช้ในภาษาไทยใช้ทั้ง “ยนต์” และ “ยนตร์” แต่เฉพาะคำนี้ พจน.54 สะกดเป็น “ภาพยนตร์” (-ตร์) ไม่ใช่ “ภาพยนต์” (-ต์)
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “ภาพยนตร์” เป็นอังกฤษว่า a moving picture, a movie, a motion picture, a picture, a cinema, cinematography
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล picture เป็นบาลีว่า –
(1) cittakamma จิตฺตกมฺม (จิด-ตะ-กำ-มะ) = “การทำภาพ” = จิตรกรรม
(2) paṭirūpa ปฏิรูป (ปะ-ติ-รู-ปะ) = ภาพที่ทำขึ้นเหมือนของจริง
และแปล cinema, cinematograph, cinematography เป็นบาลีว่า –
(1) cinema : calacittāgāra จลจิตฺตาคาร (จะ-ละ-จิด-ตา-คา-ระ) = โรงภาพยนตร์
(2) cinematograph : calacittayanta จลจิตฺตยนฺต (จะ-ละ-จิด-ตะ-ยัน-ตะ) = ภาพยนตร์
(3) cinematography : calacittavijjā จลจิตฺตวิชฺชา (จะ-ละ-จิด-ตะ-วิด-ชา) = วิชาการภาพยนตร์
หมายเหตุ :
๑. จลจิตฺต แปลตามศัพท์ว่า “รูปที่ทำขึ้นและเคลื่อนไหวได้”
๒. โปรดสังเกตว่าคำแปลเป็นบาลีไม่มีคำว่า “ภาว” = ภาพ
: อยากให้ชีวิตเป็นอย่างไร
: สร้างเอาเองได้-เหมือนภาพยนตร์
8-10-58