บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พระไม่ใช่ขอทาน

พระไม่ใช่ขอทาน

—————

เมื่อวันก่อนผมเล่าเรื่องไปค้างกรุงเทพฯ 

ผมเดินดูตลาดยามเช้า แล้วซื้อโจ๊กใส่บาตร

ผมยังไม่ได้เล่ารายละเอียดอย่างหนึ่ง

คือ แทบจะทันทีที่ผมปล่อยมือจากถุงโจ๊กลงในบาตร พระท่านก็ให้พรตรงนั้นเลยตามความนิยมของคนรุ่นใหม่

เรื่องนี้น่าศึกษาให้เข้าใจชัดเจนว่า พระในสมัยพุทธกาลไปบิณฑบาตท่านอนุโมทนากันตรงที่โยมใส่บาตรนั่นเลยหรือเปล่า

ขอแรงคนวัดที่พอมีเวลา กรุณาค้นคว้ามาสู่กันฟัง เป็นการให้ข้อมูลความรู้แก่สาธารณชน

แต่ตามธรรมเนียมของพระไทย เมื่อท่านฉันภัตตาหารเสร็จแล้วจึงอนุโมทนา ยะถาสัพพี-ที่เรียกกันว่าให้พร- ไม่ใช่ยืนให้กันที่ข้างทาง 

ต่อไปนี้พระฉันเสร็จแล้วคงไม่ต้องอนุโมทนา เพราะอนุโมทนาไปแล้วตอนโยมใส่บาตร 

และจะกลายเป็นธรรมเนียมใหม่ขึ้นมา คือยืนให้พรกันข้างทางตรงที่โยมใส่บาตร

คนที่เรียกร้องให้พระให้พรกันตรงที่ใส่บาตรนั้นทำเหมือนกับเรียกร้องค่าตอบแทนจากการใส่บาตร-ขอประทานโทษ ผมรู้สึกอย่างนี้จริงๆ

…….

ผมอยากจะบอกพระรูปนั้นว่า ไม่ต้องให้พรผมข้างทางหรอก กลับถึงวัดฉันเสร็จแล้วค่อยให้พรให้เป็นกิจจะลักษณะก็ได้ ผมไม่รีบใช้พร จึงไม่จำเป็นต้องรีบให้ และผมไม่มีความประสงค์จะรับค่าตอบแทนใดๆ จากพระคุณท่าน

———–

ลองคิดดูนะครับ เราใส่บาตรเพื่ออะไร

๑ ถ้าใส่บาตรเพื่ออุปถัมภ์บำรุงให้พระสงฆ์มีกำลังศึกษาปฏิบัติธรรม 

ก็ไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องขอรับพรกันทันทีที่ตรงนั้น เพราะใส่บาตรบำรุงสงฆ์ ไม่ใช่ใส่บาตรแลกพร

๒ ถ้าใส่บาตรเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ 

ก็ไม่จำเป็นอะไรที่จะต้องอุทิศกันทันทีที่ข้างถนน ใส่บาตรเสร็จแล้วจะไปอุทิศที่ไหนที่เหมาะๆ ก็ได้

จริงอยู่ มีหลักอยู่ว่า อุทิศขณะนั้นจิตยังสดใสอยู่กับบุญที่ทำ เจตนาย่อมมีกำลังแรง แต่การอุทิศส่วนบุญก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยเสียงให้พรเป็น background แต่ประการใดเลย อุทิศเงียบๆ ก็ได้ และการอุทิศส่วนบุญนั้นเรานึกถึงบุญที่ทำมาขึ้นได้เมื่อไรก็อุทิศส่วนบุญนั้นได้ทุกครั้งไป ไม่ใช่ว่าพอล่วงเวลานั้นไปแล้วอุทิศส่วนบุญไม่ได้

๓ ถ้าใส่บาตรเพื่อขจัดความตระหนี่ 

ก็ยิ่งไม่จำเป็นที่จะต้องขอรับพร เพราะการอยากได้พรย่อมเป็นฉายาอย่างหนึ่งของความตระหนี่

๔ ถ้าใส่บาตรเพื่อบำเพ็ญบุญตามหลักทาน ศีล ภาวนา 

หรือพูดเป็นสำนวนว่าเก็บบุญใส่ย่ามเป็นเสบียงเดินทางไปในสังสารวัฏ พอใส่เสร็จก็ได้บุญทันทีอยู่แล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าพระต้องให้พรด้วยจึงจะสำเร็จเป็นบุญ

๕ แม้แต่ใส่บาตรเพื่อแลกพร

การใส่บาตรเป็นพร-คือเป็นสิ่งประเสริฐอยู่แล้วในตัว จะต้องเอาไปแลกกับพรอะไรอีก

———–

ความจริง การอนุโมทนาตามแบบแผนของพระพุทธเจ้าเป็นการกล่าวธรรมะให้ฟัง เป็นเจตนาแสดงธรรม เราจึงมีคำเรียกพระออกบิณฑบาตว่า พระไปโปรดสัตว์ แล้วตัดลงเหลือแค่-ไปโปรด-เช่นในคำว่า-มีบาตรไม่โปรด มีโบสถ์ไม่ลง มีอาบัติไม่ปลง เป็นสงฆ์อยู่ได้อย่างไร 

การกล่าวอนุโมทนาที่แท้จริงจึงไม่ใช่การให้พร แต่เป็นการแสดงธรรม เมื่อแสดงธรรมจบแล้วอาจอ้างเอาคุณพระรัตนตรัยมาแสดงความปรารถนาดีต่อผู้ฟังอีกส่วนหนึ่งด้วย

สาระของคำอนุโมทนาจึงต่างจากคำให้พร หรือเสียงสรรเสริญของคนขอทานข้างทางที่เอ่ยขึ้นเมื่อมีผู้หย่อนสตางค์ลงในภาชนะ

“ภิกขุ” หรือภิกษุ แปลว่า “ผู้ขอ” ก็ได้

แต่ภิกษุไม่ใช่ขอทานอย่างที่เราเห็น

พระไทยสมัยก่อนท่านไม่ได้ให้พรกันข้างถนน

เมื่อผมบวชเณร อาจารย์สอนว่าเดินบิณฑบาตให้ภาวนาว่า นามรูปํ อนิจฺจํ นามรูปํ ทุกฺขํ นามรูปํ อนตฺตา ทั้งไปและกลับ และกำชับว่าอย่าพูดอะไรกับญาติโยมเว้นไว้แต่ถูกถามก็ให้ตอบเท่าที่จำเป็น

เดี๋ยวนี้ใส่บาตรแล้วต้องให้พระให้พรกันตรงนั้นเลย

เรากำลังช่วยกันทำให้พระกลายเป็นขอทานเข้าไปทุกวัน

พระไม่ใช่ขอทานนะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๙ ตุลาคม ๒๕๕๘

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *