ประติมากร – ประติมากรรม (บาลีวันละคำ 1,268)
ประติมากร – ประติมากรรม
อ่านว่า ปฺระ-ติ-มา-กอน / ปฺระ-ติ-มา-กํา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ประติมากร : (คำนาม) ช่างปั้น, ช่างแกะสลัก.
(2) ประติมากรรม : (คำนาม) ศิลปะสาขาหนึ่งในจําพวกวิจิตรศิลป์เกี่ยวกับการแกะสลักไม้ หินอ่อน โลหะ เป็นต้น ให้เป็นรูปหรือลวดลายต่าง ๆ. (ส. ปฺรติมา + กรฺม; ป. ปฏิมา + กมฺม).
“ประติมากร” พจน.54 ไม่ได้แยกคำไว้ให้ ดังจะให้เข้าใจว่าเป็นคำเต็มอยู่ในตัว คือไม่ได้เกิดจากคำว่า ประติมา + กร
“ประติมากร” เป็นการเขียนอิงสันสกฤต เทียบบาลีเป็น “ปฏิมากร” (ดูรายละเอียดที่ “ปฏิมากร” บาลีวันละคำ (1,267) 17-11-58)
“ประติมากรรม” พจน.54 แยกคำไว้ให้ว่า สันสกฤตเป็น ปฺรติมา + กรฺม; บาลีเป็น ปฏิมา + กมฺม
ข้อสังเกต :
ถ้า ประติมากรรม แยกเป็น ปฺรติมา + กรฺม
ประติมากร ก็น่าจะแยกเป็น ปฺรติมา + กร ได้ด้วย
ปฏิมา + กมฺม = ปฏิมากมฺม อ่านว่า ปะ-ติ-มา-กำ-มะ แปลตามศัพท์ว่า “กรรมคือรูปจำลอง” “การทำรูปจำลอง” เป็นคำที่คิดขึ้นใช้ในภาษาไทย ยังไม่พบคำที่ประสมกันในความหมายเช่นนี้ในคัมภีร์
ในบาลี คำที่หมายถึง “รูปจำลอง” นอกจาก “ปฏิมา” ก็มีคำว่า “ปฏิพิมฺพ” (ปะ-ติ-พิม-พะ) อีกคำหนึ่ง
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “ปฺรติม” และ “ปฺรติมาน” บอกไว้ดังนี้ –
(1) ปฺรติม : (คุณศัพท์) ‘ประติม,’ เหมือน, แม้น; like, resembling.
(2) ปฺรติม : (คำนาม) ‘ประติม,’ ความแม้น, ประติรูป, รูป, ประติมา; ภาคศีร์ษะช้างระหว่างงา; a resemblance, a picture, figure, an image, an idol; the part of an elephant’s head between the tusks.
(3) ปฺรติมาน : (คำนาม) ‘ประติมาน,’ ความแม้น, ประติมา, ประติรูป; ภาคศีร์ษะช้างระหว่างงา; a resemblance, a picture, an image or idol; the part of an elephant’s head between the tusks.
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำว่า “ปฺรติมา” และ “ปฺรติมากรฺม”
“ปฺรติ” ในสันสกฤตก็คือ “ปฏิ” ในบาลีนั่นเอง แต่เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทยบางคำเรามาแยกความหมายไปคนละอย่าง :
“ประติมากร” (สันสกฤต) พจน.54 บอกว่า ช่างปั้น, ช่างแกะสลัก ไม่ได้หมายถึง พระพุทธรูป
“ปฏิมากร” (บาลี) พจน.54 บอกว่า รูปเปรียบหรือรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า คือ พระพุทธรูป ไม่ได้หมายถึง ช่างปั้น, ช่างแกะสลัก
: คำบางคำ พอเปลี่ยนรูป ความหมายก็แปลกไป
: คนบางคน พอได้เป็นอะไรๆ นิสัยก็เปลี่ยนไป
: แต่สัจธรรม ไม่ว่าใครจะเรียกว่าอย่างไร ความหมายไม่เคยเปลี่ยน
18-11-58