บาลีวันละคำ

ทวีธาภิเษก (บาลีวันละคำ 3,130)

ทวีธาภิเษก

อ่านว่า ทะ-วี-ทา-พิ-เสก

ประกอบด้วยคำว่า ทวีธา + อภิเษก

(๑) “ทวีธา

บาลีเป็น “ทฺวิธา” ประกอบขึ้นจาก ทฺวิ (บาลีเป็น –วิ ไม่ใช่ –วี) + ธา ปัจจัย

(ก) “ทฺวิ” (โปรดสังเกต มีจุดใต้ ทฺ) ออกเสียงตามลิ้นไทยว่า ทะ-วิ เสียง ทะ แผ่วๆ และควบกับ วิ หรือออกเสียงคำว่า ทุยอิ๊ เร็วๆ จะได้เสียง ทฺวิ ที่ถูกต้องที่สุด

ทฺวิ” เป็นศัพท์สังขยา คือคำบอกจำนวน แปลว่า สอง (จำนวน 2) (number two)

ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ทฺวิ:

ทฺวิ” ในบาลีเมื่อไปสมาสกับคำอื่นอาจแปลงรูปได้อีกอย่างน้อย 5 รูป อาจจำเป็นสูตรง่ายๆ ว่า “ทฺวิ ทิ ทุ ทฺวา พา เทฺว

ทฺวิ, ทฺวา, เทฺว 3 คำนี้อ่านเพื่อให้ได้เสียงที่ถูกต้องว่า ทุย-อิ๊, ทัว-อา, ทัว-เอ

ตัวอย่าง :

(1) “ทิ” เช่น ทิช = “เกิดสองครั้ง” คือ นก, พราหมณ์

(2) “ทุ” เช่น ทุปฏวตฺถ = ผ้าสองชั้น

(3) “ทฺวา” เช่น ทฺวาทส จำนวน 12 เช่นในคำว่า ทวาทศมาส = 12 เดือน

(4) “พา” เช่น พาวีสติ = จำนวน 22

(5) “เทฺว” เช่น เทฺวภาว = ความเป็นสอง

คำว่า “โท” ในภาษาไทยที่แปลว่า สอง ก็เป็นรูปที่กลายมาจาก ทฺวิ คือ ทฺวิ > ทุ > โท

ทฺวิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทวี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทวี : (คำกริยา) เพิ่มขึ้น, มากขึ้น, เช่น งานทวีขึ้น. (ป., ส. ทฺวิ).”

โปรดสังเกตว่า ในบาลี “ทฺวิ” แปลว่า สอง ไม่ได้แปลว่า เพิ่มขึ้น

เข้าใจว่า “ทวี” ในภาษาไทยที่แปลว่า เพิ่มขึ้น นั้น คงเอาความหมายมาจาก “ทฺวิคุณ” ในสันสกฤต หรือ “ทิคุณ” ในบาลีที่แปลว่า “สองเท่า” ซึ่งมีความหมายว่า เพิ่มขึ้น แต่เมื่อใช้ในภาษาไทย ตัดคำว่า “คุณ” ออกไป เหลือแต่ “ทวี” แต่ยังคงใช้ในความหมายเท่ากับ “ทฺวิคุณ

(ข) ทฺวิ + ธา ปัจจัยในวิภาคตัทธิต = ทฺวิธา นักเรียนบาลีแปล “ธา” ปัจจัยว่า “โดยส่วน-” ดังนั้น “ทฺวิธา” จึงแปลว่า “โดยส่วนสอง” หมายถึงการนับหรือการแบ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยแยกเป็นสองส่วน หรืออาจแปลสั้นๆ ว่า “สองเท่า

ในกรณีที่มีจำนวนใดจำนวนหนึ่งตั้งไว้เป็นเกณฑ์ “ทฺวิธา” อาจหมายถึงเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากจำนวนนั้นเป็นสองเท่า

(๒) “อภิเษก

บาลีเป็น “อภิเสก” อ่านว่า อะ-พิ-เส-กะ ประกอบด้วย อภิ + เสก

(ก) “อภิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน (over, along over, out over, on top of) โดยอรรถรสของภาษาหมายถึง มากมาย, ใหญ่หลวง (very much, greatly)

(ข) “เสก” รากศัพท์มาจาก  สิจฺ (ธาตุ = รด, ราด) ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ สิ-(จฺ) เป็น เอ, (สิจฺ > เสจฺ), แปลง จฺ เป็น

: สิจฺ + = สิจณ > สิจ > เสจ > เสก (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การรดน้ำ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสก” ว่า sprinkling (ประพรม)

อภิ + เสก = อภิเสก แปลว่า “การรดน้ำอย่างยิ่งใหญ่” หมายถึง การอภิเษก, การประพรม, การเจิม, การทำพิธีสถาปนา (เป็นกษัตริย์) (anointing, consecration, inauguration [as king])

บาลี “อภิเสก” สันสกฤตเป็น “อภิเษก

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อภิเษก : (คำนาม) การชำระกาย; การประพรม; bathing; sprinkling.”

ในภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อภิเษก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

อภิเษก : (คำกริยา) แต่งตั้งโดยการทําพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระเจ้าแผ่นดิน. (ส.; ป. อภิเสก).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็น –

อภิเษก : (คำกริยา) แต่งตั้งโดยการทำพิธีรดนํ้า เช่นพิธีขึ้นเสวยราชย์ของพระมหากษัตริย์. (ส.; ป. อภิเสก).”

คือแก้คำว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” เป็น “พระมหากษัตริย์

ในเวลาประชุมชำระพจนานุกรม คงจะได้มีการอภิปรายถึงเหตุผลในการแก้ แต่ผู้ใช้พจนานุกรมไม่มีโอกาสที่จะได้ทราบเหตุผลนั้น

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเสนอสำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้พิจารณาคัดเลือกสาระที่น่ารู้จากรายงานการประชุมของคณะกรรมการชำระพจนานุกรมพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้และได้ทราบความคิดเห็นที่คณะกรรมการนำมาถกแถลงกันในการประชุม

เข้าใจว่า ข้อเสนอนั้นคงกลายเป็นอากาศธาตุไปหมดแล้ว

อภิเสกอภิเษก” ความหมายเดิมคือทำพิธีรดน้ำเพื่อประกาศสถานภาพบางอย่าง เช่นความเป็นกษัตริย์ ความเป็นคู่ครอง เป็นต้น เมื่อเอาคำนี้มาใช้ในวัฒนธรรมไทยความหมายก็ค่อยๆ กลายเป็นว่า ทำพิธีในวาระสำคัญ ทำพิธีเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เช่นในคำว่า พุทธาภิเษก เป็นต้น

ทฺวิธา + อภิเสก = ทฺวิธาภิเสก (ทฺวิ-ทา-พิ-เส-กะ) เขียนแบบไทยเป็น “ทวีธาภิเษก” (ทะ-วี-ทา-พิ-เสก) แปลเท่าศัพท์หรือแปลคำเท่าที่ตาเห็นว่า “การรดน้ำอย่างยิ่งใหญ่ (—) สองเท่า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ทวีธาภิเษก” ไว้ว่า –

ทวีธาภิเษก : (คำนาม) พระราชพิธีสมโภชเมื่อรัชกาลที่ ๕ ทรงครองราชสมบัติยืนนานมาเป็น ๒ เท่าของรัชกาลที่ ๔, เรียกเหรียญที่จัดทำขึ้นเป็นที่ระลึกในพระราชพิธีนี้ ว่า เหรียญทวีธาภิเษก.”

พึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมต่อไปอีกว่า พระราชพิธีสมโภช “ทวีธาภิเษก” ในครั้งกระนั้นมีรายละเอียดเป็นประการใดบ้าง

ท่านผู้ใดสามารถนำความรู้นั้นมาช่วยบูรณาการเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ร่างกายที่อยู่ได้ไม่เกินร้อยปี

: ใช้เป็นอุปกรณ์สร้างความดีที่อยู่ได้นานเป็นร้อยเท่าพันเท่า

#บาลีวันละคำ (3,130)

6-1-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย