สหธรรมิก (บาลีวันละคำ 1,269)
สหธรรมิก
อ่านว่า สะ-หะ-ทำ-มิก
บาลีเป็น “สหธมฺมิก” อ่านว่า สะ-หะ-ทำ-มิ-กะ
ประกอบด้วย สห + ธมฺมิก
(๑) “สห” (สะ-หะ)
เป็นคำบุรพบทและอุปสรรค แปลว่า พร้อม, กับ, พร้อมด้วย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สห” ว่า conjunction with, together, accompanied by (ต่อเนื่อง, ด้วยกัน, ติดตามด้วย)
“สห” ในบาลีมีความหมายเพียงแค่ พร้อมกัน ร่วมกัน เช่น ไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน ทำพร้อมกัน แต่ไม่ได้หมายถึง “รวมกันเป็นหนึ่งเดียว” (United) เสมอไป
(๒) “ธมฺมิก” (ทำ-มิ-กะ)
ประกอบด้วย ธมฺม + อิก ปัจจัย
ทบทวนรากศัพท์ “ธมฺม”
“ธมฺม” มีรากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”
ธมฺม สันสกฤตเป็น ธรฺม เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม
พจน.54 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ธมฺม + อิก = ธมฺมิก คำแปลสามัญที่สุดคือ “ประกอบด้วยธรรม”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมิก” ไว้ดังนี้ –
(1) lawful, according to the Dhamma or the rule (ชอบด้วยกฎหมาย, ถูกตามธรรมหรือกฎเกณฑ์)
(2) proper, fit, right (สมควร, เหมาะสม, ถูกต้อง)
(3) permitted, legitimate, justified (ได้รับอนุญาต, ถูกกฎหมาย, มีเหตุผลถูกต้อง)
(4) righteous, honourable, of good character, just (ชอบธรรม, มีเกียรติ, มีอุปนิสัยดี, ยุติธรรม)
สห + ธมฺมิก = สหธมฺมิก แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยธรรมร่วมกัน” หมายถึง ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สหธมฺมิก” ว่า having the same Dhamma, co-religionist (ผู้มีธรรมเสมอกัน, ผู้ถือศาสนาเดียวกัน)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“สหธรรมิก (Sahadhammika) : co-religionists; fellow Dhamma-farer.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สหธรรมิก : (คำนาม) ผู้มีการประพฤติธรรมร่วมกัน เช่น พระสงฆ์ทั้งปวงเป็นเพื่อนสหธรรมิกกัน อุบาสกอุบาสิกาเป็นสหธรรมิกกัน. (ป. สหธมฺมิก).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต อธิบายไว้ว่า –
“สหธรรมิก : ผู้มีธรรมร่วมกัน, ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน แสดงไว้ในคัมภีร์มหานิทเทส แห่งพระสุตตันตปิฎก มี 7 คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา; ในสัตตาหกรณียะ หมายถึง 5 อย่างแรกเท่านั้น เรียกว่า สหธรรมิก 5 (คัมภีร์ฝ่ายวินัยทั่วไปก็มักหมายเฉพาะจำนวน 5)”
: ถ้าไม่มีเพื่อนที่เป็นธรรม ก็จงมีธรรมเป็นเพื่อนเถิด
19-11-58