รถไฟ (บาลีวันละคำ 788)
รถไฟ
บาลีว่าอย่างไร
รถไฟ เป็นยานพาหนะยุคใหม่ จึงไม่มีคำบาลีที่หมายถึง “รถไฟ” ปรากฏในคัมภีร์ แต่มีคำที่นักปราชญ์ทางภาษาบาลีผูกขึ้นใช้เรียก
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “รถไฟ” เป็นภาษาอังกฤษว่า a train, railroad, railway
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล train เป็นบาลีว่า dhūmarathapanti ธูมรถปนฺติ (ทู-มะ-ระ-ถะ-ปัน-ติ)
ธูมรถปนฺติ ประกอบด้วย ธูม + รถ + ปนฺติ
“ธูม” (ทู-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เคลื่อนไหวขึ้นไปข้างบน” หมายถึง ควัน หรือไอ (smoke, fumes)
“รถ” (ระ-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ยานที่ยังให้เกิดสุขารมณ์ ความสนุกเพลิดเพลิน ความดีใจ” แรกที่มนุษย์ประดิษฐ์รถขึ้นมาน่าจะเพื่อการเล่นสนุก นักภาษาจึงให้ความหมายเช่นนี้ ต่อมาจึงใช้รถเพื่อการอื่นๆ เช่นการเดินทาง การขนส่ง และการรบ
“ปนฺติ” (ปัน-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “ระเบียบอันคนเรียกหา” หมายถึง แถว, แนว, เส้น (a row, range, line)
ธูม + รถ = ธูมรถ แปลว่า “รถที่มีควัน” หรือ “รถที่ขับเคลื่อนด้วยไอ”
ทั้งนี้เป็นการใช้ศัพท์ที่มองด้วยสายตาหรือจากข้อเท็จจริง เนื่องจากรถไฟในยุคแรกใช้ระบบแรงดันไอน้ำขับเคลื่อนล้อ และเวลาออกแล่นจะมีควันพวยพุ่งขึ้นเป็นที่ปรากฏเด่นชัด
ธูมรถ + ปนฺติ = ธูมรถปนฺติ แปลว่า “แถวของรถที่มีควัน” หรือ “แถวของรถที่ขับเคลื่อนด้วยไอ”
บาลีคำนี้ไม่มีพูดหรือเขียนในภาษาไทยก็จริง แต่คำแปลตรงกับคำที่เราคุ้นในภาษาไทยว่า “ขบวนรถไฟ” นั่นเอง
ปัจจุบัน แม้ว่ารถไฟจะไม่ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยแรงดันไอน้ำ และไม่มีควันพวยพุ่งออกมาเหมือนสมัยก่อน แต่ในหมู่นักภาษาบาลีก็ยังคงใช้คำว่า “ธูมรถ” หรือ “ธูมรถปนฺติ” เมื่อหมายถึงรถไฟ หรือ a train เช่นเดิม
ในภาษาไทย คำว่า “รถไฟ” ชวนให้เข้าใจว่า คือรถที่ใช้ไฟ (เพลิง หรืออัคคี) เป็นพลังงานขับเคลื่อน
เดิมรถไฟขับเคลื่อนโดยใช้หม้อต้มน้ำทำให้เกิดไอน้ำ ไอน้ำทำให้เกิดแรงดัน แรงดันจะทำการขับเคลื่อนกลไกทำให้ล้อรถไฟเคลื่อนที่ได้
จะเห็นได้ว่าพลังขับเคลื่อนโดยตรงไม่ใช่ “ไฟ” แต่เป็น “ไอน้ำ” ซึ่งเป็นความหมายหนึ่งของคำว่า “ธูม” (fume)
มีเรื่องเล่าว่า นานมาแล้วมีพระเถระผู้ใหญ่ระดับเปรียญเอกอุของไทยได้รับอาราธนาไปทัศนศึกษาชมพูทวีปโดยเป็นแขกเมืองของรัฐบาลอินเดีย ช่วงหนึ่งในอินเดียต้องเดินทางโดยรถไฟ เมื่อถึงปลายทางแล้วทางรัฐบาลอินเดียได้จัดให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีของอินเดียมาสนทนาด้วย
ผู้เชี่ยวชาญนมัสการถามเป็นภาษาบาลีว่า “กตเรน ยาเนน อาคตตฺถ ?”(กะตะเรนะ ยาเนนะ อาคะตัตถะ – พระคุณท่านมาด้วยยานพาหนะอะไร ?)
พระเถระตอบว่า “อคฺคิรเถน” (อัคคิระเถนะ – โดยรถไฟ)
ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีของอินเดีย “เป็นงง”
อาจนึกว่าเป็นรถที่บรรทุกไฟ หรือรถที่ท่านโดยสารมาถูกไฟไหม้ก็ได้ !
“รถไฟ” บาลีว่า “ธูมรถ” หรือ “ธูมรถปนฺติ” ไม่ใช่ “อคฺคิรถ”
: รู้ทันภาษา ไม่หลงสมมุติ
: รู้ทันมนุษย์ ไม่หลงกล
: รู้ทันโลกอลวน ไม่หลงมายา
: รู้ทันอาตมา ไม่หลงในสงสาร
#บาลีวันละคำ (788)
15-7-57