บาลีวันละคำ

ทานทาส (บาลีวันละคำ 2,928)

ทานทาส

อ่านว่า ทาน-นะ-ทาด

ประกอบด้วยคำว่า ทาน + ทาส

(๑) “ทาน

บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” มีความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป.”

(๒) “ทาส

บาลีอ่านว่า ทา-สะ รากศัพท์มาจาก –

รากศัพท์ของคำว่า “ทาส” มีมาหลายทาง เช่น –

(1) ทาสฺ (ธาตุ = ร้อน) + (อะ) ปัจจัย = ทาส แปลว่า “ผู้เดือดร้อน

(2) ทุ ( = ไม่ดี, น่าเกลียด) > > ทา + อส (ธาตุ = กิน) + (อะ) ปัจจัย = ทาส แปลว่า “ผู้กินน่าเกลียด

(3) ทา (ธาตุ = ให้) + ปัจจัย = ทาส แปลว่า “ผู้อันเขาให้” คือถูกยกให้คนอื่นไปใช้

(4) บางมติว่า คำว่า “ทาส” กลายเสียงมาจากสันสกฤตว่า “ทสฺยุ” คำนี้บาลีเป็น “ทสฺสุ” (ทัด-สุ) แปลว่า ข้าศึก, ศัตรู, ขโมย ขยายความว่า เมื่อจับคนพวกนี้ได้ แทนที่จะฆ่าเสีย ก็เอาตัวมาเป็นคนรับใช้ : ทสฺยุ > ทสฺสุ > ทาส

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ อธิบายความหมายเดิมของ “ทาส” ว่า meaning “non-Aryan” i. e. slave = “ไม่ใช่อารยัน” คือทาส

ในคัมภีร์ระบุถึงทาส 4 ประเภท คือ

1 อนฺโตชาต แปลว่า “เกิดภายใน” = ทาสในเรือนเบี้ย

2 ธนกฺกีต แปลว่า “ซื้อมาด้วยเงิน” = ทาสน้ำเงิน, ทาสสินไถ่

3 กรมรานีต แปลว่า “ถูกนำมาเป็นเชลย” = ทาสเชลย

4 สามํทาสพฺยอุปคต แปลว่า “ยอมเป็นทาสเอง” = ทาสแท้

ทาน + ทาส = ทานทาส อ่านแบบบาลีว่า ทา-นะ-ทา-สะ อ่านแบบไทยว่า ทาน-นะ-ทาด แปลตามศัพท์ว่า “ทาสแห่งทาน

ทานทาส” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ :

ทานทาส” เป็นคำเรียกการให้ทานแบบหนึ่งใน 3 แบบ คือ ทานทาส ทานสหาย และ ทานบดี

บุคคลใด ตนเองบริโภคใช้สอยของดีๆ แต่พอจะให้แก่ผู้อื่นกลับให้ของเลวของทรามกว่าที่ตนเองกินใช้ บุคคลนั้นเรียกว่า “ทานทาส” (ทาน-นะ-ทาด)

อธิบายให้เห็นภาพว่า ตอนกินเองใช้เอง กินของดี ใช้ของหรู อยากกินอะไรอยากใช้อย่างไรทำได้ตามใจชอบ เหมือนเป็นเจ้าเป็นนายเป็นมหาเศรษฐี แต่พอจะหยิบยื่นให้คนอื่นกลายเป็นว่าไม่มีอะไรจะให้ มีก็แต่ของเลวๆ หยาบๆ เหมือนเป็นยาจกยากจนกระจอกงอกง่อยขึ้นมาทันทีทันใด

แบบนี้แหละคือ “ทานทาส

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความรวยไม่ได้วัดกันที่-มีเท่าไร

: แต่วัดกันที่-ให้ได้เท่าไร

#บาลีวันละคำ (2,928)

18-6-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *