นามกร (บาลีวันละคำ 1,389)
นามกร
อ่านว่า นาม-มะ-กอน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นามกร : (คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) ชื่อ, นาม.”
“นาม” คือ นาม หรือชื่อ
แต่ “กร” คืออะไร ?
(๑) “นาม”
บาลีอ่านว่า นา-มะ รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = น้อม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ น-(มฺ) เป็น อา (นมฺ > นาม)
: นมฺ + ณ = นมณ > นม > นาม แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นที่น้อมวัตถุเข้ามา” “คำที่น้อมไปหาวัตถุ” “คำที่ชาวโลกใช้เป็นเครื่องน้อมไปสู่ความหมายนั้นๆ” หมายถึง นาม, ชื่อ (name)
(๒) “กร”
บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อ ปัจจัย
: กรฺ + อ = กร แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)
(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)
(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –
(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).
(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).
(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).
ในที่นี้ น่าจะเป็น “กร” ตามความหมายในข้อ (1)
ในคัมภีร์บาลีมีศัพท์ว่า “นามกรณ” (นา-มะ-กะ-ระ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำชื่อ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีคำว่า “นามกมฺม” (นา-มะ-กำ-มะ) และ “นามกรณ” บอกไว้ว่า –
(1) นามกมฺม : giving a name, naming, denomination (การตั้งชื่อ, การขนานนาม)
(2) นามกรณ : name-giving, “christening” (การให้ชื่อ, “พิธีตั้งชื่อเด็กเกิดใหม่ทางคริสต์ศาสนา”)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “นามกรณ” บอกไว้ว่า –
“นามกรณ : (คำนาม) ‘นามกรณ์,’ การขนานนามทารก (ในประถมวารภายหลังสมภพ); naming a child (first after birth).”
สรุปได้ว่า “นามกร” ในภาษาไทย ก็คือ นาม + กร น่าจะเป็นคำเดียวกับ “นามกรณ” ในบาลีสันสกฤตนั่นเอง แต่แทนที่จะเขียน “นามกรณ์” เราก็ลดรูปลงมาเป็น “นามกร”
คนที่เคยดูโขน ละคร ลิเกแบบเก่าๆ ย่อมจะเคยได้ยินคำเจรจา เช่น “ท่านนี้มีนามกรว่ากระไร” น่าจะพอได้เค้าแล้วว่า “นามกร” มาจากไหน
: คนเปลี่ยนชื่อได้
: แต่ชื่อไม่เคยเปลี่ยนคน
21-3-59