บาลีวันละคำ

สังหรณ์ (บาลีวันละคำ 1,390)

สังหรณ์

เป็นภาษาอะไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังหร, สังหรณ์ : (คำกริยา) รู้สึกคล้ายมีอะไรมาดลใจ ทําให้รู้ว่าจะมีเหตุเกิดขึ้น (มักใช้แก่เหตุร้าย) เช่น สังหรณ์ว่าจะเกิดเรื่องร้ายขึ้นที่บ้าน. (เทียบ ส. สํหรณ ว่า ยึดไว้).”

พจน.54 บอกว่าให้เทียบคำว่า “สํหรณ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สํหรณ” บอกไว้ว่า –

สํหรณ : (คำนาม) ‘สังหรณ์,’ การรวบรวม; การระงับ; การจับกุม; การสังหาร; accumulating; restraining; seizing; destroying.”

ไม่มีความหมายใดๆ ที่ตรงหรือใกล้เคียงกับความหมายในภาษาไทย

บาลีก็มีคำว่า “สํหรณ” อ่านว่า สัง-หะ-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, รวมกัน) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง เป็น ตามกฎที่ว่า ลงกับธาตุที่ลงท้ายด้วย รฺ ให้แปลง เป็น

: สํ + หรฺ = สํหรฺ + ยุ > อน = สํหรน > สํหรณ แปลตามศัพท์ว่า “การนำไปรวมกัน” หมายถึง การรวบรวม, การเก็บ (collecting, gathering)

ก็ยังไม่มีความหมายใดๆ ที่ตรงหรือใกล้เคียงกับความหมายในภาษาไทยเช่นกัน

อภิปราย :

๑. ภาษาบาลีสันสกฤตมีคำจำพวกนิบาตหรืออุปสรรค เมื่อนำไปประกอบกับธาตุอาจทำให้ความหมายเดิมของธาตุตัวนั้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น คม (คะ-มะ) หมายถึง “ไป” ถ้ามี “อา” (คำอุปสรรค) นำหน้าเป็น “อาคม” ความหมายก็เปลี่ยนจาก “ไป” กลายเป็น “มา”

โดยทำนองเดียวกัน หร หมายถึง “นำไป” เมื่อมี “สํ” (คำอุปสรรค) นำหน้าเป็น “สํหร” (สํหรณ) ความหมายอาจเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น เช่นจาก “นำไป” อาจกลายเป็น “แคลงใจ” แล้วเลยกลายเป็นสังหรณ์ใจในภาษาไทยต่อมา นี่เป็นการอธิบายแบบลากเข้าความ หรืออธิบายช่วย เหมือนหวยออกแล้วตีความฝันแม่นทุกที

๒. อีกกรณีหนึ่ง เมื่อมีผู้นำคำว่า “สํหรณ” มาใช้ในภาษาไทยเป็น “สังหรณ์” ก็คงใช้ตามความหมายเดิมนั่นเอง (สังหรณ์ = การรวบรวม, การเก็บ) แต่คนอ่านหรือคนที่เอาคำนี้มาใช้ต่อไม่เข้าใจตามนี้ แต่ไพล่ไปเข้าใจเป็นอย่างอื่น ทำนองเดียวกับคำว่า “จำวัด” หมายถึงพระเข้านอน หรือพระนอนหลับ แต่คนสมัยนี้ไม่ยอมเข้าใจตามนี้ ไพล่ไปเข้าใจว่า จำวัดคืออยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ “สังหรณ์” ก็จึงกลายความหมายแบบผิดจนถูกอยู่ในภาษาไทย

๓. หรืออาจเป็นอีกกรณีหนึ่ง คือคำว่า “สังหรณ์” นี้ไม่ใช่คำบาลีสันสกฤตแต่ประการใด แต่เป็นคำจากภาษาอะไรสักอย่างที่ออกเสียงคล้ายๆ สัง-หอน และหมายถึง “รู้สึกคล้ายมีอะไรมาดลใจ ทําให้รู้ว่าจะมีเหตุเกิดขึ้น” คนที่ถนัดบาลีก็เลยเอาเสียง สัง-หอน มาจับบวชเป็น “สังหรณ์” ทำให้คนรุ่นหลังหลงอธิบายให้เป็นบาลีสันสกฤตอยู่ในขณะนี้

: คนที่ไม่ได้ทำชั่ว

: ย่อมจะไม่หวั่นกลัวลางสังหรณ์

22-3-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย