บาลีวันละคำ

ลอยอังคาร (บาลีวันละคำ 1,435)

ลอยอังคาร

หรือลอยอัฐิ ?

เมื่อเผาศพแล้ว ทุกวันนี้นิยมไป “ลอยอังคาร”

ถามว่าสิ่งนำไปลอยนั้นคือ “อังคาร” หรือ “อัฐิ

(๑) “อังคาร” (อัง-คาน)

บาลีเป็น “องฺคาร” (อัง-คา-ระ) รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ถึง) + อาร ปัจจัย

: องฺคฺ + อาร = องฺคาร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความเสื่อมสภาพ” หมายถึง ถ่านไม้, ถ่านเผา, ถ่านไฟที่ยังปะทุอยู่; ขี้เถ้า (charcoal, burning coal, embers; ashes)

คำว่า “อังคาร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อังคาร : (คำนาม) ชื่อวันที่ ๓ ของสัปดาห์; ชื่อดาวเคราะห์ดวงที่ ๔ ในระบบสุริยะ มองเห็นด้วยตาเปล่า อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ ๒๒๘ ล้านกิโลเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖,๗๘๗ กิโลเมตร มีพื้นผิวขรุขระและมีบรรยากาศเบาบาง ส่วนใหญ่เป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ มีบริวาร ๒ ดวง; เถ้าถ่านของศพที่เผาแล้ว. (ป., ส.).”

ในที่นี้ “อังคาร” หมายถึง เถ้าถ่านของศพที่เผาแล้ว

(๒) “อัฐิ” (อัด-ถิ)

บาลีเป็น “อฏฺฐิ” (อัด-ถิ, มี ฏฺ ปฏัก สะกดอีกตัวหนึ่ง) รากศัพท์มาจาก –

1) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น; ทิ้ง, ขว้างไป) + อิ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (อ)-สฺ เป็น ฏฺฐ (อสฺ > อฏฺฐ)

: อสฺ > อฏฺฐ + อิ = อฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เป็นแกนอยู่ในร่างกาย” (2) “สิ่งที่ทิ้งอยู่ตลอดกาลนาน

2) อา (คำอุปสรรค = ยิ่ง, สำคัญ, ดี) + ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + อิ ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา เป็น อะ, ลบ อา ที่ ฐา (ตามสูตรว่า “ลบสระหน้า”) (ฐา > ), ซ้อน ฏฺ ระหว่าง อา + ฐา (อา + ฏฺ + ฐา)

: อา > + ฏฺ + ฐา = อฏฺฐา > อฏฺฐ + อิ = อฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้ตั้งอยู่ได้อย่างดี

อฏฺฐิ” ในบาลีหมายถึง (1) กระดูก (a bone) (2) เมล็ดผลไม้ (the stone of a fruit)

อฏฺฐิ” ในภาษาไทย ตัด ฏฺ ปฏักออก เขียน “อัฐิ” แต่ยังคงอ่านว่า อัด-ถิ เหมือนบาลี

อภิปราย :

๑ คำว่า “ลอยอังคาร” เป็นคำที่พูดกันมาแต่เดิม แสดงว่าสิ่งที่นำไปลอยนั้นคือเถ้าถ่านที่เหลือจากการเผาศพซึ่งได้เลือกเอาส่วนที่ยังเป็นชิ้นกระดูก (อัฐิ) ออกหมดแล้ว

๒ ในเวลาไปลอยจริงอาจมีกระดูกติดไปบ้าง แต่ไปๆ มาๆ ปัจจุบันนี้มีทั้งเถ้าถ่านปนกระดูกที่ยังเป็นชิ้นๆ หรือบางทีลอยแต่กระดูกล้วนๆ ก็มี แต่ก็ยังคงเรียกด้วยคำเดิมว่า “ลอยอังคาร” ไม่ใช่ “ลอยอัฐิ

๓ ต่อไปอาจมีคนเรียกว่า “ลอยอัฐิ” โดยอ้างว่าสิ่งลอยนั้นเป็นชิ้นกระดูก หรืออาจตั้งเป็นหลักว่า ถ้าลอยเฉพาะเถ้าถ่าน เรียก “ลอยอังคาร” ถ้าลอยเฉพาะกระดูก เรียก “ลอยอัฐิ

ความผันแปรของภาษาย่อมเกิดขึ้นได้ จึงควรรู้ทันไว้ว่าคำเดิมเรียกกันมาอย่างไร

๔ ควรศึกษาเพื่อความรู้ต่อไปว่า การลอยอังคารเกิดจากคตินิยมอย่างไร เป็นธรรมเนียมไทยแท้หรือได้คติมาจากไหน ตลอดจนน่าจะวิจัยเพิ่มเติมว่า การเก็บกระดูกบรรพบุรุษไว้เพื่อบำเพ็ญบุญตามวาระ กับการเอากระดูกไปลอยอังคาร อย่างไหนสมควรกว่ากัน

: ถ้าหมั่นสร้างกุศลเป็นเหตุนำตนไปสุคติ

: ก็ไม่ต้องห่วงว่าใครจะลอยอัฐิหรือใครจะลอยอังคาร

————

(สนองคำปรารภบางส่วนของ ตรีรัตน์ ปิ่นประยงค์)

6-5-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย