บาลีวันละคำ

ของขวัญ (บาลีวันละคำ 1,498)

ของขวัญ

บาลีว่าอย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ของขวัญ : (คำนาม) สิ่งของที่ให้แก่เจ้าของขวัญเมื่อเสร็จพิธีทําขวัญแล้ว; สิ่งของที่ให้กันในเวลาอื่นเป็นการถนอมขวัญหรือเพื่ออัธยาศัยไมตรี เช่น ของขวัญปีใหม่ ของขวัญวันเกิด.”

เมื่อพูดว่า “ของขวัญ” คนสมัยใหม่จะนึกได้ง่ายที่สุดถึงคำอังกฤษว่า gift

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล gift เป็นบาลีดังนี้ –

(1) pābhata ปาภต (ปา-พะ-ตะ) = (ก) ของขวัญ, ของกำนัล, สินบน (a present, bribe) (ข) เงิน, รางวัล (money, price)

(2) upāyana อุปายน (อุ-ปา-ยะ-นะ) = การไปถึง, กิจกรรม, ของถวาย, บรรณาการ, ของขวัญ, รางวัล (going to, enterprise, offering, tribute, present)

(3) upahāra อุปหาร (อุ-ปะ-หา-ระ) = การนำเข้าไป, การมอบให้, การเสนอให้, การให้ (bringing forward, present, offering, gift)

(4) paṇṇākāra ปณฺณาการ (ปัน-นา-กา-ระ)

คำนี้เราคุ้นกันดี รากศัพท์มาจาก ปณฺณ (หนังสือ, จดหมาย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, สำคัญยิ่ง) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: ปณฺณ + อา + กรฺ = ปณฺณากรฺ + = ปณฺณากรฺณ > ปณฺณากรฺ > ปณฺณาการฺ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งของอันเขานำมาพร้อมกับหนังสือชี้แจง

ปณฺณาการ” (ปุงลิงค์) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลตามศัพท์ว่า “state or condition of writing” (ภาวะหรือสถานะของการเขียน) คือ วัตถุประสงค์ของการเขียน; สิ่งที่เกี่ยวข้อง หรือที่ส่งไปกับจดหมาย, ข่าวสารพิเศษ, ของบริจาค, ของขวัญ, รางวัล, ของบรรณาการ (object of writing; that which is connected or sent with a letter, a special message, donation, present, gift)

ปณฺณาการ” ภาษาไทยใช้ว่า “บรรณาการ” (บัน-นา-กาน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรรณาการ : (คำนาม) สิ่งที่ส่งไปให้ด้วยความเคารพนับถือหรือด้วยไมตรี. (ป. ปณฺณาการ; ส. ปรฺณาการ), ในบทประพันธ์ใช้ว่า บรรณา ก็มี.”

คำในประวัติศาสตร์ที่เรามักได้ยินคือ “เครื่องราชบรรณาการ” หรือ “เครื่องมงคลราชบรรณาการ” ก็คือ “ของขวัญ” ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงส่งไปถวายพระเจ้าแผ่นดินต่างเมือง หรือที่ต่างเมืองส่งมาถวายพระเจ้าแผ่นดินของเรา

: ความเป็นมนุษย์คือของขวัญที่ประเสริฐสุดของทุกคน

: การปฏิบัติจนถึงวิมุตติหลุดพ้น คือของขวัญที่ทุกคนมอบให้แก่ตัวเอง

ดูก่อนภราดา! ท่านเตรียมของขวัญเพื่อตัวเองแล้วหรือยัง?

———–

(มอบเป็นบรรณาการแด่ Darida Namwich)

11-7-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย