สัจธรรม (บาลีวันละคำ 1,497)
สัจธรรม
อ่านว่า สัด-จะ-ทำ
ประกอบด้วย สัจ + ธรรม
(๑) “สัจ”
บาลีเป็น “สจฺจ” (สัด-จะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ส (แทนศัพท์ว่า “สนฺต” = สัตบุรุษ, คนดี) + ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + จ ปัจจัย, แปลง ภู เป็น จ
: ส + ภู > จ = สจ + จ = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีในคนดีทั้งหลาย” (สัจจะจึงต้องเป็นไปในทางดี)
(2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + จ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ส)-รฺ (สรฺ > ส), ซ้อน จฺ
: สรฺ > ส + จฺ + จ = สจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนทุกข์” (สัจจะจึงต้องใช้เพื่อแก้ทุกข์ คือแก้ปัญหา)
“สจฺจ” เป็นคำนาม แปลว่า ความจริง (the truth), การยืนยันแน่นอน (a solemn asseveration) เป็นคุณศัพท์ แปลว่า จริง, แท้ (real, true)
“สจฺจ” ยังหมายถึง พระนิพพาน โดยนัยว่า เพราะไม่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นเหตุสิ้นราคะ หรือเพราะนับเนื่องในสัจจะสี่
“สจฺจ” สันสกฤตเป็น “สตฺย” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) สตฺย : (คุณศัพท์) ‘สัตย์’ จริง, มีสัตย์; วิศุทธ์, สุจจริต, ศุทธมติ, หรือกล่าวความจริง; true; sincere, honest, speaking the truth.
(2) สตฺย : (คำนาม) ‘สัตย์’ ความจริง; ประติชญาหรือคำศบถ; การกล่าวความจริง; ความวิศุทธิหรือความจริงใจ true; an oath; speaking the truth; sincerely, or veracity.
“สจฺจ” ในภาษาไทย นิยมตัด จ ออกตัวหนึ่ง เขียนเป็น “สัจ” ถ้าใช้คำเดียวและอ่านว่า สัด-จะ เขียนเป็น “สัจจะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สัจ, สัจ-, สัจจะ : (คำนาม) ความจริง, ความจริงใจ, เช่น ทำงานร่วมกันต้องมีสัจจะต่อกัน. (ป. สจฺจ; ส. สตฺย).
(2) สัตย-, สัตย์ : (คำนาม) ความจริง เช่น รักษาสัตย์, คำมั่นสัญญา, เช่น เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ลูกเสือให้สัตย์ปฏิญาณ.(คำวิเศษณ์) จริง เช่น วาจาสัตย์, มักใช้เข้าคู่กับคำอื่น เช่น สัตย์ซื่อ ซื่อสัตย์ สัตย์จริง. (ส.; ป. สจฺจ).
ความหมายในภาษาไทย :
(ตามความเข้าใจของผู้เขียนบาลีวันละคำ)
(๑) สัจจะ : มีความหมายหนักไปในทาง >
(1) ความจริง (the truth) ตรงข้ามกับความเท็จ
(2) จริงใจ, อย่างมีน้ำใสใจจริง (sincere, heartfelt) ตรงข้ามกับมารยา เสแสร้ง
(๒) สัตย์ : มีความหมายหนักไปในทาง >
(1) ตรง, โดยตรง; ตรงไปตรงมา (straight, direct; straightforward, honest, upright) ตรงข้ามกับมีลับลมคมใน มีเล่ห์เหลี่ยม
(2) ความซื่อตรง, ความซื่อสัตย์ (straightness, uprightness) ตรงข้ามกับทรยศคดโกง หักหลัง
(๒) “ธรรม”
บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ และ ร ต้นปัจจัย
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
ในที่นี้ “ธมฺม” หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป อันเป็นความหมายตามข้อ (4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
สจฺจ + ธมฺม = สจฺจธมฺม > สัจธรรม แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมคือความจริง”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
สัจจธรรม : ธรรมที่จริงแท้, หลักสัจจะ เช่น ในคำว่า “อริยสัจจธรรมทั้งสี่”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัจธรรม : (คำนาม) ความจริงแท้ เช่น บรรลุสัจธรรม เข้าถึงสัจธรรม.”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “สัจธรรม” เป็นอังกฤษว่า the truth; Truth.
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล truth เป็นบาลีว่า –
(1) sacca สจฺจ (สัด-จะ) = ความจริง
(2) taccha ตจฺฉ (ตัด-ฉะ) (คุณศัพท์) = จริง, แท้, ถูกต้อง
(3) tatha ตถ (ตะ-ถะ) (คุณศัพท์) = โดยแท้, ไม่มุสา, แท้, จริง
สรุปว่า “สัจธรรม” ก็คือความจริงแท้ ที่เห็นง่ายและปฏิเสธไม่ได้เลยก็เช่นความแก่และความตาย สัจธรรมนั้นจริงอย่างเดียว ไม่มีเท็จ สัจธรรมไม่ขึ้นกับความเห็น ไม่ว่าใครจะเห็นอย่างไรหรือเชื่ออย่างไร สัจธรรมก็คงเป็นอย่างที่มันเป็น
: หน้าที่ของมนุษย์คือทำความเห็นให้ตรงกับความเป็นจริง
: ที่ยังทำหน้าที่ไม่เสร็จ ก็เพราะไปมัวเกณฑ์ความเท็จให้เป็นความจริง
————–
(ตอบคำถามของ Somboon Surarat ผู้กำลังแสวงหาสัจธรรม)
10-7-59