พิษสวาท (บาลีวันละคำ 1,515)
พิษสวาท
ถ้าไม่ฉลาดก็พลาดได้ง่ายๆ
อ่านว่า พิด-สะ-หฺวาด
เป็นคำประสมขึ้นใหม่ จากคำว่า พิษ + สวาท
(๑) “พิษ”
บาลีเป็น “วิส” อ่านว่า วิ-สะ รากศัพท์มาจาก วิสฺ (ธาต = เข้าไป) + อ ปัจจัย
: วิสฺ + อ = วิส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เข้าสู่ร่างกายทางเส้นเลือด” หมายถึง ยาพิษ, พิษ, พิษของสัตว์ (poison, virus, venom)
“วิส” ในบาลีเป็น “วิษ” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
“วิษ : (คำนาม) พิษ; poison, wenom.”
ในภาษาไทย แผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยม ใช้อิงสันสกฤตเป็น “พิษ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิษ, พิษ– : (คำนาม) สิ่งที่ร้ายเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือให้ความเดือดร้อนแก่จิตใจ; สิ่งที่ร้ายเป็นอันตราย เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทําให้ตาย เจ็บปวด หรือพิการได้ บางอย่างเกิดจากแร่ เช่นสารหนู, บางอย่างเกิดจากต้นไม้ เช่นต้นแสลงใจ, บางอย่างเกิดจากสัตว์ เช่นงู. (ส. วิษ; ป. วิส).”
(๒) “สวาท” (สะ-หฺวาด)
พจน.54 บอกไว้ว่า –
“สวาท : (คำนาม) ความรัก ความพอใจ หรือความยินดีในทางกามารมณ์ เช่น รสสวาท พายุสวาท ไฟสวาท. (ภาษาปาก) (คำกริยา) รัก ยินดี หรือ พอใจ เป็นต้น (มักใช้ในเชิงปฏิเสธ) เช่น หน้าตาน่าสวาทนักนี่ คุณคิดว่าเขาสวาทคุณนักหรือ. (ส. สฺวาท ว่า รสอร่อย, รสหวาน).”
พจน.วงเล็บไว้ว่า “ส. สฺวาท ว่า รสอร่อย, รสหวาน” เป็นการเทียบความหมาย และมีนัยว่า “สวาท” ในคำไทยมาจาก “สฺวาท” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “สฺวาท” และ “สฺวาทุ” (-ทุ สระ อุ) บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) สฺวาท : (ธาตุ = คำรากศัพท์) ชิม; รมยะ-สุข-หรือปริยะ, อันเปนที่พอใจ-จับใจ-หรือต้องอารมณ์; to taste; to be agreeable or pleasing.
(2) สฺวาทุ : (คำคุณศัพท์) หวาน; อันเปนที่พอใจหรือต้องอารมณ์, อันมีความใคร่หรือต้องการ; อันงาม; อันมีรส, อันอร่อย; sweet; agreeable, desired; handsome; flavoury, palatable or dainty.
“สฺวาทุ” (สฺวา-ทุ) ในสันสกฤต ตรงกับ “สาทุ” (สา-ทุ) ในบาลี แปลว่า หวาน, ดี, น่าพอใจ (sweet, nice, pleasant)
อันที่จริง “สวาท” ลากเข้าบาลีก็ได้ คือรากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม) + อท (อะ-ทะ) = กิน, ของกิน (eating), แผลง อุ ที่ สุ เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (สุ > โส > สฺว), ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ อ-(ท) เป็น อา (อท > อาท)
: สุ > โส > สฺว + อท = สฺวท > สฺวาท แปลตามศัพท์ว่า “กินดี” หมายถึง ของกินที่อร่อย (sweet eating)
สรุปว่า สฺวาท หรือ สาทุ > สวาทุ ในบาลีสันสกฤต เราเอามาใช้ว่า “สวาท” หมายถึง ความรัก หนักไปในความยินดีในทางกามารมณ์
พิษ + สวาท = พิษสวาท เป็นรูปคำประสม แปลจากหน้าไปหลังว่า “พิษของความรัก”
แต่เมื่อออกเสียงว่า พิด-สะ-หฺวาด เสียงนี้ก็ไปตรงกับเสียงของคำว่า “พิศวาส”
พจน.54 บอกไว้ว่า
“พิศวาส : (คำวิเศษณ์) รักใคร่, สิเนหา, เช่น ไม่น่าพิศวาส. (ส. วิศฺวาส; ป. วิสฺสาส ว่า ความคุ้นเคย).”
ดูเพิ่มเติมที่ : “พิศวาส” บาลีวันละคำ (217) 11-12-55
ระวัง : “พิศวาส” ไม่ใช่ “พิษสวาท” ถ้าไม่ฉลาดก็พลาดได้ง่ายๆ
“พิษสวาท” พิด+ สะ-หฺวาด มาจากคำว่า “พิษ” คำหนึ่ง ประสมกับ “สวาท” อีกคำหนึ่ง แปลว่า “พิษของความรักใคร่” เป็นคำที่ประสมขึ้นใหม่ ใช้เฉพาะเรื่องเฉพาะกิจ เช่นใช้เป็นชื่อละครเป็นต้น ไม่ใช่คำที่ใช้ได้ทั่วไป เป็นคนละคำคนละความหมายกับ “พิศวาส”
“พิศวาส” พิด-สะ-หฺวาด แปลว่า “รักใคร่” เป็นคำทั่วไปคำเดิม คำเดียวไม่ได้เอาคำอะไรกับคำอะไรมาประสมกัน
เมื่อจะพูดถึงความรักใคร่ทั่วไป ใช้ว่า “พิศวาส” ไม่ใช่ “พิษสวาท”
“พิษสวาท” มีใช้เฉพาะเป็นชื่อนิยายละคร ไม่มีใช้ในความหมายทั่วไป
…………
ดูก่อนภราดา!
พิษของสวาท :
ถ้าไม่ลวกให้เร่าร้อน
ก็หลอกหลอนให้ลุ่มหลง
สวาทที่ไม่มีพิษสง ไม่มีเลย
————–
(ร่วมแบ่งปันความตระหนกกับ Pim Anong)
28-7-59