โล้น – ล้าน (บาลีวันละคำ 1,514)
โล้น – ล้าน
คำว่า “โล้น” ตรงกับคำบาลีว่า “มุณฺฑ” อ่านว่า มุน-ดะ
“มุณฺฑ” รากศัพท์มาจาก มุณฺฑฺ (ธาตุ = ตัด) + อ ปัจจัย
: มุณฺฑ + อ = มุณฺฑ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้โกนผม”
ศัพท์นี้ เป็น “มุณฺฑก” (มุน-ดะ-กะ) ก็มี เป็น “มุณฺฑิก” (มุน-ดิ-กะ) ก็มี แปลเหมือนกันทุกศัพท์
มุณฺฑ – มุณฺฑก – มุณฺฑิก หมายถึง คนหัวโล้น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มุณฺฑ” ว่า bald, shaven; a shaven, (bald-headed) ascetic, either a samaṇa, or a bhikkhu or bhikkhunī (ศีรษะล้าน, โล้น; นักบวช (ที่โกนหัว) คือ สมณะ หรือภิกษุหรือภิกษุณี)
คำว่า “ล้าน” ตรงกับคำบาลีว่า “ขลฺลาต” (ขัน-ลา-ตะ)
“ขลฺลาต” รากศัพท์มาจาก ขํ (แทนศัพท์ “ตุจฺฉ” = ว่างเปล่า) + ลา (ธาตุ = ถือเอา) + ต ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ ขํ เป็น ลฺ (ขํ > ขลฺ)
: ขํ > ขลฺ + ลา + ต = ขลฺลาต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือศีรษะไว้ว่างเปล่าเพราะไร้ผม” หมายถึง คนศีรษะล้าน (bald)
ควรเข้าใจว่า “โล้น” กับ “ล้าน” ต่างกัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) โล้น : (คำวิเศษณ์) ลักษณะของหัวที่โกนผมออกหมด; เกลี้ยงเตียน เช่น เขาโล้น. (คำนาม) เรียกหัวโขนที่ไม่สวมมงกุฎหรือชฎา เช่น หัวนนทุก หัวเสนายักษ์ ว่า หัวโล้น.
(2) ล้าน ๒ : (คำวิเศษณ์) ลักษณะของหัวที่ไม่มีผมมาแต่กำเนิดหรือผมร่วงแล้วไม่ขึ้นอีก, โดยปริยายเรียกสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ภูเขาหัวล้าน.
ในคัมภีร์มีศัพท์ว่า “มุณฺฑสีส” (มุน-ดะ-สี-สะ) และ “ขลฺลาตสีส” (ขัน-ลา-ตะ-สี-สะ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล 2 ศัพท์นี้ต่างกันดังนี้ –
: มุณฺฑสีส = shaven head = ศีรษะโล้น
: ขลฺลาตสีส = a bald head = ศีรษะล้าน
โล้น คือยังมีเส้นผม แต่โกนออก
ล้าน คือไม่มีเส้นผมงอกขึ้น
หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวว่า “ฮึ่ม!ฟันโล้นเมธี ลิ่วล้อสมเด็จช่วงขีดเส้นนายกฯ” มีผู้แสดงความเห็นว่า คำว่า “โล้น” ที่ใช้เรียกภิกษุเป็นคำที่ไม่สุภาพ
ในคัมภีร์มีพบทั่วไปที่คนภายนอกพุทธศาสนาเรียกภิกษุ ภิกษุณี และแม้แต่เรียกพระพุทธเจ้าว่า “สมณะโล้น”
คำว่า “โล้น” จึงเป็นคำที่คนนอกศาสนาใช้เรียกภิกษุด้วยความดูหมิ่น จัดเป็น “อัปปิยวาจา” คือคำที่ไม่น่ารักสำหรับชาวพุทธ
……….
ดูก่อนภราดา!
สาธุชนพึงสังวร
: จะบอกความน่าเกลียดของใคร ถ้าไม่ตระหนัก
: จะกลายเป็นบอกความไม่น่ารักของตัวเอง
————–
(ภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์ 13 กรกฎาคม 2559)
27-7-59