มณฑล (บาลีวันละคำ 805)
มณฑล
อ่านว่า มน-ทน
บาลีเขียน “มณฺฑล” อ่านว่า มัน-ดะ-ละ
“มณฺฑล” รากศัพท์มาจาก มณฺฑ (ธาตุ = ประดับ) + อล ปัจจัย : มณฺฑ + อล = มณฺฑล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประดับ” “สิ่งที่ประดับด้วยส่วนย่อย”
จินตนาการตามคำแปล : มีสิ่งละอันพันละน้อยมาประดับประดิษฐ์อยู่ในบริเวณนั้น เหตุดังนั้น จึงเรียกบริเวณนั้นว่า “มณฑล”
“มณฑล” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) วงกลม (circle)
(2) วงกลมของพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ (the disk of the sun or moon)
(3) แผ่น, พื้นที่กลมราบ (a round, flat surface)
(4) พื้นที่ซึ่งกั้นรอบและประกอบกิจหรือมีอะไรเกิดขึ้นในนั้น, เขตวงกลมอันเป็นที่แสดงละครสัตว์ (an enclosed part of space in which something happens, a circus ring)
(5) สิ่งที่อยู่ในขอบเขตหรือเขตจำกัด, กลุ่ม (anything comprised within certain limits or boundaries, a group)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มณฑล : (คำนาม) วง เช่น สุริยมณฑล คือ วงรอบดวงอาทิตย์ จันทรมณฑล คือ วงรอบดวงจันทร์, บริเวณ เช่น มณฑลพิธี, เขตปกครองที่แบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ ๆ; พระแท่นที่วงด้ายสายสิญจน์ เรียกว่า พระแท่นมณฑล. (ป., ส.)”
หมายเหตุ :
(1) “มณฺฑล” เป็นทั้งบาลีและสันสกฤต
(2) “มณฺฑล” ในบาลี เมื่อมีคำอื่นนำ ความหมายจะยักเยื้องไปตามคำนั้นๆ เช่น –
อัสสมณฑล = ละครสัตว์เล่นด้วยม้า, สนามแข่งขัน
อาปานมณฑล = วงเหล้า คือห้องโถง
ชูตมณฑล = โต๊ะเล่นการพนัน
ยุทธมณฑล = เวทีสำหรับต่อสู้
วาตมณฑล = ลมบ้าหมู
ปริมณฑล = นุ่งห่มสุภาพเรียบร้อย
พุทธมณฑล = ศูนย์กลางพระพุทธศาสนา
(3) ฑ มณโฑ ในบาลี ตามหลักออกเสียงเหมือน ด เด็ก (โปรดสังเกตเมื่อเขียนด้วยอักษรโรมัน ใช้อักษร Ḍ ḍ คือ D มีจุดใต้ ซึ่งสมที่จะเป็น ด ยิ่งกว่า ท) แต่เมื่อใช้ในภาษาไทยมีหลักนิยมกว้างๆ ว่า –
(๑) ถ้า ฑ เป็นเสียงคำตาย (แม่กก กด กบ) ออกเสียงเหมือน ด เด็ก เช่น มณฑป อ่านว่า มน-ดบ
(๒) ถ้า ฑ เป็นเสียงคำเป็น (นอกจากแม่กก กด กบ) ออกเสียงเหมือน ท ทหาร เช่น มณฑล อ่านว่า มน-ทน
: หลงเข้าไปอยู่ในวงคนร้าย
: ยังไม่ฉิบหายเท่ากับตั้งวงคนร้ายเสียเอง
—————–
(ตามคำขอของคุณครู พิมพ์ วศินธรรมนนท์)
#บาลีวันละคำ (805)
1-8-57