จิรัฐิติกาล (บาลีวันละคำ 1,565)
จิรัฐิติกาล
อ่านว่า จิ-รัด-ถิ-ติ-กาน
ประกอบด้วย จิร + ฐิติ + กาล
(๑) “จิร”
บาลีอ่านว่า จิ-ระ รากศัพท์มาจาก จิ (ธาตุ = สะสม, เจริญ, รวม) + ร ปัจจัย
: จิ + ร = จิร แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาสะสมไว้” หมายถึง ยาวนาน, เนิ่นนาน (long)
(๒) “ฐิติ”
บาลีอ่านว่า ถิ-ติ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = หยุดการไป, ยืน, ตั้งอยู่) + ติ ปัจจัย, แปลง ฐา เป็น ฐิ
: ฐา > ฐิ + ติ = ฐิติ แปลตามศัพท์ว่า “การตั้งอยู่”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ฐิติ” ว่า state, stability, steadfastness; duration, continuance, immobility; persistence, keeping up (สถานะ, เสถียรภาพ, ความแน่วแน่หรือแน่นอน; ความยาวนาน, การต่อเนื่อง, การไม่เคลื่อนไปเคลื่อนมา; ความไม่ละลด, การทำอยู่เสมอ)
(๓) “กาล”
บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
การประสมคำ :
๑ จิร + ฐิติ ซ้อน ฏฺ ระหว่างกลาง : จิร + ฏฺ + ฐิติ = จิรฏฺฐิติ (จิ-รัด-ถิ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “ตั้งอยู่ยาวนาน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิรฏฺฐิติ” ว่า perpetual, lasting long (อยู่ตลอดไป, ดำรงอยู่เป็นเวลานาน)
๒ จิรฏฺฐิติ + กาล = จิรฏฺฐิติกาล แปลว่า “กาลเวลาอันตั้งอยู่ยาวนาน”
“จิรฏฺฐิติกาล” ใช้ในภาษาไทยตัดตัวซ้อน คือ ฏฺ ออก เขียนเป็น “จิรัฐิติกาล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จิรัฐิติกาล : (คำนาม) เวลายั่งยืน, เวลาที่ตั้งอยู่นาน. (ป. จิร + ฐิติ + กาล).
“จิรัฐิติกาล” เป็นคำศัพท์ นิยมใช้ในภาษาเขียนพรรณนา เมื่อกล่าวตั้งความปรารถนาขอให้บุคคล สิ่งที่ก่อสร้างขึ้น หรือกิจการที่เริ่มจัดทำขึ้นดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดกาลนาน
………….
: จงเตรียมตัวให้พร้อมทุกวันวาร
: เพราะจิรัฐิติกาล ไม่ได้แปลว่าอยู่ได้ตลอดไป
16-9-59