ฟังเพลงน่านน้ำคืนเพ็ญ เห็นอนาคตพระพุทธศาสนา (๔)-จบ
ฟังเพลงน่านน้ำคืนเพ็ญ เห็นอนาคตพระพุทธศาสนา (๔)-จบ
——————————————————-
ฟังเพลงน่านน้ำคืนเพ็ญแล้ว ทำไมจึงว่าเห็นอนาคตพระพุทธศาสนา?
หลักของผมคือ เพลงนี้ ถ้าคนแต่งยังไม่ได้แก้ไขเป็นอย่างอื่น และคนร้องต้นฉบับยังไม่ได้ร้องเป็นอย่างอื่น ต้องถือว่าเพลงที่ร้องครั้งแรกนั่นคือต้นฉบับ
ใครที่เอามาร้องใหม่-และเผยแพร่ต่อสาธารณะ-ไม่มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนคำร้องเป็นอย่างอื่น โดยปราศจากการรับรู้และยินยอมของผู้แต่งและนักร้องต้นฉบับ
ผมมองตรงที่ว่า เพลงน่านน้ำคืนเพ็ญนั้น มีคำร้องที่เป็นต้นฉบับชัดเจนแน่นอน แม้ไม่เห็นตัวอักษรต้นฉบับที่คนแต่งเขียนไว้ แต่เมื่อตั้งใจฟังตามที่คนร้องต้นฉบับร้องออกมา ก็สามารถกำหนดได้แน่นอนว่า ข้อความที่เป็นคำร้องนั้นคือคำอะไร เขียนอย่างไรสะกดอย่างไร
ถ้าคนที่เอามาร้องใหม่เห็นความสำคัญของต้นฉบับ เคารพต้นฉบับ ก็ควรศึกษาสังเกตให้แม่นยำ แล้วร้องตามต้นฉบับ แม้น้ำเสียง-กระแสเสียงของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป นั่นก็คือรสน้ำเสียงที่ทำให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์แตกต่างกัน แต่ถ้อยคำในเพลงจะไม่มีทางผิดเพี้ยนแตกต่างกันไปได้เลยแม้แต่คำเดียว
แต่แทบทุกคนก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ ต้นฉบับจะร้องอย่างไรก็ร้องไป แต่เนื้อร้องในมือฉัน-ตรงหน้าฉัน เขาเขียนมาอย่างนี้ หรือฉันเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ หรือฉันชอบคำนี้แบบนี้ ฉันก็จะร้องไปตามนี้
ผลก็คือ เพลงน่านน้ำคืนเพ็ญเพลงเดียวกัน แต่เนื้อร้อง-ทั้งที่เป็นเสียงร้อง ทั้งที่พิมพ์เป็นตัวอักษรเผยแพร่-ผิดแผกแตกต่างไปคนละทาง-โดยเฉพาะแตกต่างจากต้นฉบับ
แม้ว่าโดยภาพรวมจะรู้ว่าเป็นเพลงเดียวกัน แต่เนื้อในก็มีจุดพิรุธซึ่งไม่ควรจะมี-ถ้าผู้ทำเรื่องนี้เห็นความสำคัญของต้นฉบับ และเคารพต้นฉบับ
ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ เนื้อเพลงที่ผิดพลาดและเอามาเผยแพร่กันตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็ยังคงดำรงความผิดพลาดอยู่ได้อย่างอิสรเสรี ผู้เผยแพร่ไม่ต้องแก้ไขหรือแสดงความรับผิดชอบอะไร เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้ศึกษาตรวจสอบเอาคำร้องผิดพลาดไปเผยแพร่ต่อๆ กันไปได้อีกตามสบาย
ถ้าท่านผู้ใดมองว่า – เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้เอามาพูดได้เป็นคุ้งเป็นแคว มันไม่ได้เสียหายอะไรเลย ไม่มีใครเขาถือกันหรอกเรื่องแบบนี้ – ก็เท่ากับท่านสนับสนุนให้เกิดความผิดเพี้ยนนั่นแล้ว
………………….
ฟังเพลงน่านน้ำคืนเพ็ญแล้วมองมาที่พระพุทธศาสนา จะเห็นว่ามีอาการคล้ายกันที่สุด
นั่นคือ ชาวพุทธทุกวันนี้-ไม่ว่าจะเป็นชาววัดหรือชาวบ้าน-ส่วนมากไม่ได้ศึกษาเรียนรู้หลักคำสอนไปให้ถึงต้นฉบับ หากแต่ใช้วิธีดักช้อนเอาตามปลายน้ำ-ชอบใจคำสอนของสำนักไหน หรือพอใจคำสอนของใคร ก็เอาคำสอนแบบนั้นไปประพฤติปฏิบัติ
ในส่วนผู้เผยแพร่ พอใจจะเผยแพร่คำสอนอะไรอย่างไรแม้กระทั่งเผยแพร่คำสอนของตัวเอง ก็เผยแพร่ออกไป โดยแทบจะไม่ได้ศึกษาตรวจสอบว่า เนื้อแท้จริงๆ ของคำสอนนั้นๆ ต้นฉบับท่านแสดงไว้อย่างไร
ผลก็คือ หลักพระวินัยเรื่องเดียวกัน แต่ปฏิบัติแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าใครจะเห็นดีเห็นงามแบบไหน หลักพระธรรมข้อเดียวกัน แต่เอาไปสอน เอาไปอธิบาย เอาไปประพฤติแตกต่างกัน แล้วแต่ว่าใครจะเข้าใจว่าอย่างไร
โดยเฉพาะชาววัด การศึกษา สังเกต สำเหนียก สำนึกถึงหลักการ แบบแผนดั้งเดิมแล้วปฏิบัติให้ถูกต้อง กำลังถดถอยลงไปอย่างมาก
ขอยกมาแสดงบางประเด็นที่มักจะมีผู้อ้างว่า “เรื่องเล็กน้อย” ที่เกิดจากการไม่เห็นความสำคัญของต้นฉบับ และไม่เคารพต้นฉบับ
………………………………………………….
-๑-
………………………………………………….
พระไทยสมัยก่อน ทันทีที่สำเร็จเป็นองค์พระท่านจะระมัดระวังตัวมาก เช่นอะไรฉันได้ อะไรฉันไม่ได้ โดยเฉพาะหลังเที่ยงไปแล้ว จะฉันน้ำอะไรต้องมองหน้าพระเก่าทุกครั้งไป ฝ่ายพระเก่าก็ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องแนะนำ อะไรได้ อะไรไม่ได้ จะบอกจะสอนกันเสมอ
พระไทยสมัยใหม่ ความระมัดระวังแผ่วลงไปมาก ก่อนบวช-หลังบวช แทบไม่ต่างกัน
………………………………………………….
-๒-
………………………………………………….
พระไทยสมัยก่อน ถ้ามีสตรีมาหา – ไม่เว้นแม้แต่โยมแม่ สิ่งที่ท่านจะต้องทำทันทีก็คือเรียกหา “บุรุษผู้รู้เดียงสา” มาอยู่เป็นเพื่อน
อันดับแรกก็เพื่อนพระด้วยกัน
มองหาไม่เจอก็สามเณร
หาใครไม่ได้ก็เด็กวัด
ผมยืนยันได้ สมัยเป็นเด็กวัดโดนบ่อย หลวงพี่เรียกมานั่งใกล้ๆ เวลามีโยมผู้หญิงมาหา ตอนแรกๆ ก็ไม่เข้าใจว่าให้มานั่งทำไม จะไปเล่นก็ไปไม่ได้ จะใช้ทำอะไรก็ไม่ใช้ ให้นั่งเฉยๆ อยู่ตรงนั้น แต่พอบ่อยเข้าก็ค่อยๆ เรียนรู้-หลวงพี่ท่านกลัวเป็นอาบัติ ให้เด็กวัดมานั่งคุ้มอาบัติให้
คำว่า “บุรุษผู้รู้เดียงสา” นี่เราเรียนกันมาตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี มีคำอธิบายสำทับไว้ด้วยว่า สตรีด้วยกันแม้เป็นร้อยก็คุ้มไม่ได้-ถ้าไม่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ในที่นั้นด้วย
พระไทยสมัยนี้ อยู่กับผู้หญิงสองต่อสอง เป็นเรื่องธรรมดา-อ้างว่าจิตใจบริสุทธิ์
พระสมัยก่อนจิตใจท่านก็บริสุทธิ์ แต่ท่านไม่อ้าง ท่านยึดพระวินัยเป็นหลัก พระวินัยกำหนดว่าต้องมี “บุรุษผู้รู้เดียงสา” อยู่ด้วย จิตใจบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ไม่ต้องเอามาอ้าง
………………………………………………….
-๓-
………………………………………………….
พระไทยสมัยก่อน รับของจากมือสตรีต้องใช้ผ้ารองรับ
พระไทยสมัยนี้ รับของจากมือสตรีตรงๆ มีให้เห็นหนาตาขึ้น
………………………………………………….
-๔-
………………………………………………….
ในพระไตรปิฎก มีกระสวนประโยคบาลี* ว่า “ยถา มยํ … เอวเมวิเม” (ยะถา มะยัง … เอวะเมวิเม) แปลความว่า “พระทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้าน”
(*กระสวนประโยคบาลี หมายถึงรูปแบบโครงสร้างของข้อความในภาษาบาลี เช่นข้อความเช่นนี้ คำที่หนึ่งต้องเป็นคำนี้ คำที่สองต้องเป็นคำนี้ เทียบง่ายๆ กับสำนวนภาษาอังกฤษเช่น- ถ้ามี not only ต้องมี but also อย่างนี้เป็นต้น)
“ยถา มยํ … เอวเมวิเม – พระทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้าน” – เป็นสำนวนที่ชาวบ้านสมัยพุทธกาลตำหนิพระที่ชาวบ้านเห็นว่าทำอะไรไม่เหมาะไม่ควร เสียงตำหนิเช่นนี้เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทของพระหลายต่อหลายข้อ
ผมเชื่อว่าพระไทยสมัยนี้ไม่ได้เรียนเรื่องนี้ แม้แต่พระเณรที่เรียนบาลี-จบบาลีไปแล้วนั่นก็เถิด คงไม่เคยเห็นกระสวนประโยคบาลี “ยถา มยํ … เอวเมวิเม” ซึ่งมีอยู่ในพระวินัยปิฎก เพราะนักเรียนบาลีสมัยนี้ไม่ได้เรียนบาลีเพื่อไปให้ถึงพระไตรปิฎก (ทั้งๆ ที่เป้าหมายที่ถูกต้องของการเรียนบาลีก็เพื่อศึกษาพระไตรปิฎกซึ่งก็คือศึกษาต้นฉบับของพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนานั่นเอง แต่เรียนไปเรียนมาถูกค่านิยมอย่างอื่นครอบงำจนลืมเป้าหมายที่แท้จริง!!)
เมื่อไม่ได้เรียนไปถึงต้นฉบับ ก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านเขาตำหนิพระว่า “ยถา มยํ … เอวเมวิเม – พระทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้าน” พระสมัยนี้จึงทำอะไรๆ “เหมือนชาวบ้าน” กันอย่างไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน ชาวบ้านเขานิยมอะไร ก็เอาค่านิยมแบบนั้นมาใช้ด้วย นอกจากไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเสียหายแล้ว กลับพากันชื่นชมยินดี ชาวบ้านที่ไม่รู้หลักพระธรรมวินัยหรือเข้าใจผิดๆ ก็พลอยชื่นชมยินดีไปกับพระที่มี ที่เป็น ที่ทำ “เหมือนชาวบ้าน” นั่นด้วย
อุปมาเหมือนต้นฉบับเพลงน่านน้ำคืนเพ็ญร้องว่า –
“มองดูฟากฟ้า สุดตาไม่รู้คลาย”
คนที่ไม่ได้ตรวจสอบต้นฉบับเอาไปร้องว่า –
“มองดูฟากฟ้า สุดตามีรุ้งพราย”
แล้วก็มีคนเอา “… สุดตามีรุ้งพราย” ไปร้องต่อๆ กันไป
๑๐๐ คน ร้อง “… สุดตาไม่รู้คลาย” คนเดียว!
ร้อง “… สุดตามีรุ้งพราย” ๙๙ คน!!
ผิดกลายเป็นถูกด้วยข้ออ้าง-ใครๆ เขาก็ร้องอย่างนี้
“ยถา มยํ … เอวเมวิเม – พระทำอย่างนี้ก็เหมือนชาวบ้าน” – ไม่มีใครเห็นว่าเสียหาย กลับพากันเห็นว่าดีเห็นว่าถูก สาเหตุใหญ่ก็มาจาก-ไม่เรียนรู้ศึกษาตรวจสอบไปให้ถึงต้นฉบับ
ต้นฉบับเพลงน่านน้ำคืนเพ็ญฉันใด
ต้นฉบับพระธรรมวินัยก็ฉันนั้น
………………………………………………….
พระธรรมวินัยอันเป็นต้นฉบับจะว่าไว้อย่างไร ก็ช่าง จารีตของสงฆ์ไทยจะว่าไว้อย่างไร ก็ช่าง แต่ยุคสมัยของข้าพเจ้าอยู่ในมือของข้าพเจ้า-ตรงหน้าข้าพเจ้า เขาทำกันอย่างนี้ หรือข้าพเจ้าเข้าใจว่าทำแบบนี้ไม่ผิด หรือข้าพเจ้าชอบแบบนี้ ข้าพเจ้าก็จะทำแบบนี้
เจ้าคณะผู้ปกครองหรือองค์กรของสงฆ์ก็ใส่เกียร์ว่างตลอด ใครสำนักไหนจะทำอย่างไร ปล่อยตามสบาย – แบบเดียวกับเนื้อเพลงที่ผิดพลาดและเอามาเผยแพร่กันตามเว็บไซต์ต่างๆ ที่ยังคงดำรงคำร้องผิดพลาดอยู่ได้อย่างอิสรเสรี ผู้เผยแพร่ไม่ต้องแก้ไขหรือแสดงความรับผิดชอบอะไร เปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้ศึกษาตรวจสอบเอาคำร้องผิดพลาดไปเผยแพร่ต่อๆ กันไปได้อีกตามสบาย
ฉันใดก็ฉันนั้น
นี่คือที่ผมว่า-ฟังเพลงน่านน้ำคืนเพ็ญแล้วเห็นอนาคตพระพุทธศาสนา
………………….
ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปเช่นนี้ ทางรอดที่เหลืออยู่ก็คือ แต่ละคนต้องขวนขวายศึกษาเรียนรู้ “ต้นฉบับพระพุทธศาสนา” กันเอง
๑ เพื่อตัวเองจะได้มีความรู้ที่ถูกต้อง
๒ แล้วเอาความรู้ที่ถูกต้องนั้นมาประพฤติปฏิบัติ
๓ ต่อจากนั้น ถ้ามีโอกาสก็เผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องนั้นต่อไป
ทั้งนี้ โดยไม่ต้องหวังว่าใครจะมาช่วยเรา หรือใครจะมาช่วยใคร
เพียงแต่ขอให้ตั้งใจเป็นมิตรทางธรรมที่ดีต่อกันไว้เสมอ
ต้นฉบับเพลงน่านน้ำคืนเพ็ญที่ถูกต้องมีอยู่ ขวนขวายไปหาฟัง-ถ้าปรารถนาจะเป็นนักฟังเพลงที่ดี
ต้นฉบับพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องมีอยู่ ขวนขวายศึกษาเรียนรู้ไปให้ถึง-ถ้าปรารถนาจะเป็นศาสนิกที่ดี
………………….
ช่วงวันอาสาฬหบูชา+วันเข้าพรรษา เห็นญาติมิตรทั้งปวงบำเพ็ญบุญบอกบุญ อนุโมทนาบุญกันคึกคัก
ผมขอร่วมอนุโมทนาบุญด้วยครับ
การบำเพ็ญบุญไม่ได้มีเฉพาะวันนี้วันเดียวหรือสองวัน
แต่มีทุกวัน
และมีตลอดไป-ตลอดชีวิตนะครับ
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕
๑๒:๐๓
……………………………………………
ฟังเพลงน่านน้ำคืนเพ็ญ เห็นอนาคตพระพุทธศาสนา (๔)-จบ
…………………………….
…………………………….