อินทผลัม (บาลีวันละคำ 1,566)
อินทผลัม
เหมือนบาลี แต่น่าจะไม่ใช่
อ่านว่า อิน-ทะ-ผะ-ลำ
ถ้าสมมุติให้ “อินทผลัม” เป็นคำบาลี ก็เหมาะที่จะเป็น “อินฺทผล” (อิน-ทะ-ผะ-ละ) ประกอบด้วย อินฺท + ผล
(๑) “อินท” (อิน-ทะ) รากศัพท์มาจาก –
๑) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ แล้วแปลงเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ (อิทิ + อ ปัจจัย : อิทิ อยู่หน้า อ อยู่หลัง) ลบสระ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)
: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง”
๒) อินฺทฺ (ธาตุ = ประกอบ) + อ ปัจจัย
: อินฺทฺ + อ = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่”
“อินฺท” (ปุงลิงค์) หมายถึง จอม, เจ้า, ผู้ยิ่งใหญ่, ผู้เป็นใหญ่, พระอินทร์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อินฺท” ว่า –
(1) lord, chief, king (ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา)
(2) The Vedic god Indra (พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท)
“อินฺท” ในบาลีเป็น “อินฺทฺร” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“อินฺทฺร : (คำนาม) พระอินทร์, เจ้าสวรรค์, เทพดาประจำทิศตะวันออก; Indra, the supreme deity presiding over Svarga, the regent of the east quarter.”
“อินฺท” ในภาษาไทยนิยมใช้อิงสันสกฤตเป็น “อินทร์” แต่ที่คงเป็น “อินท์” ก็มี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อินท์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช, พระอินทร์; ผู้เป็นใหญ่. (ป.; ส. อินฺทฺร).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
อินทร์ : ผู้เป็นใหญ่, จอมเทพ, ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือเทพชั้นจาตุมหาราชิกา; เรียกตามนิยมในบาลีว่า ท้าวสักกะ.
(๒) “ผล”
บาลีอ่านว่า ผะ-ละ รากศัพท์มาจาก ผลฺ (ธาตุ = สำเร็จ, เผล็ดผล, แตกออก, แผ่ไป) + อ ปัจจัย
: ผลฺ + อ = ผล แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เผล็ดออก” (2) “สิ่งเป็นเครื่องแผ่ไป” คือขยายพืชพันธุ์ต่อไป (3) “อวัยวะเป็นเครื่องผลิตบุตร”
“ผล” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผลของต้นไม้ ฯลฯ (fruit of trees etc.)
(2) ผลที่ได้รับ, ผลที่เกิดตามมา, การสำเร็จผล, พรที่ได้ (fruit, result, consequence, fruition, blessing)
(3) ลูกอัณฑะข้างหนึ่ง (a testicle)
ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
อินฺท + ผล = อินฺทผล แปลตามศัพท์ว่า “ผลไม้พระอินทร์”
“อินฺทผล” แจกวิภัตติเป็น“อินฺทผลํ” อ่านว่า อิน-ทะ-ผะ-ลัง
แผลงเสียงท้ายศัพท์ล้อเสียงสันสกฤตเป็น “อินฺทผลมฺ” (คือแปลงนิคหิตที่ –ลํ เป็น มฺ) อ่านว่า อิน-ทะ-ผะ-ลำ ตรงกับเสียงอ่านในภาษาไทยพอดี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อินทผลัม : (คำนาม) ชื่อปาล์มชนิด Phoenix dactylifera L. ในวงศ์ Palmae ผลกินได้ (ภาษาปาก) อินทผาลัม.”
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “อินทผลัม” เป็นอังกฤษว่า the date palm
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล date palm เป็นบาลีว่า khajjūrī ขชฺชูรี (ขัด-ชู-รี)
“ขชฺชูรี” รากศัพทฺมาจาก ขชฺชฺ (ธาตุ = กิน) + อุร ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ อุร เป็น อู (อุร > อูร) + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ขชฺชฺ + อุร = ขชฺชุร > ขชฺชูร + อี = ขชฺชูรี แปลตามศัพท์ว่า “ต้นไม้อันเขากิน”
“ขชฺชูรี” คัมภีร์อภิธานับปทีปิกาแปลว่า ต้นอินทผลัม
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปลว่า ต้นเป้ง, ต้นอินทผลัม
อภิปราย:
“อินทผลัม” ต้องอ่านว่า อิน-ทะ-ผะ-ลำ (ย้ำ -ผะ-ลำ) แต่บางคนลากเสียงเป็น อิน-ทะ-ผา-ลำ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการออกเสียงผิด คือ -ผะ- เห็นอยู่ทนโท่ แต่ไพล่ไปออกเสียงเป็น -ผา-
ออกเสียงผิดกันมากๆ จนในที่สุดพจนานุกรมฯ ต้องยอมรับให้ -ผาลำ เป็นภาษาปาก ซึ่งก็เท่ากับยอมให้ผิดเป็นถูกครึ่งหนึ่งนั่นเอง
แต่เมื่อเอาคำอังกฤษ palm มาเทียบ กลับชวนให้สงสัย
คำว่า palm คนไทยเราออกเสียงว่า ปาม แต่ถ้ากระดกลิ้นให้มีสำเนียงอังกฤษหน่อยๆ ก็จะได้เสียงว่า ปา-ลำ-มะ (ออกเสียง -มะ แผ่วๆ)
palm ปา-ลำ-มะ ก็คือ ผา-ลัม ตรงตัว
the date palm = อินทผาลัม
-ผา-ลัม ก็น่าจะใกล้กับ palm มากกว่า
palm > ปาล์ม > ผาลัม
ถ้าเป็นอย่างนี้ “อินทผาลัม” ก็ทำท่าจะถูกต้องกว่า “อินทผลัม” หรืออย่างน้อยก็ไม่ควรจะเป็นการออกเสียงผิด
หรือถ้าพจนานุกรมฯ (ที่จะปรับปรุงในอนาคต) จะปรับแก้คำว่า “(ภาษาปาก) อินทผาลัม” เป็น “อินทผาลัม ก็ว่า” แล้วตั้งคำว่า “อินทผาลัม” ขึ้นอีกคำหนึ่ง บอกไว้ว่า “อินทผลัม ก็ว่า” ก็น่าจะเป็นการดี
………..
: อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าถูกหรือผิด
: จนกว่าจะได้พินิจให้ถึงรากถึงโคน
17-9-59