คาถาพระสุพรรรณกัลยา (บาลีวันละคำ 2,089)
คาถาพระสุพรรรณกัลยา
มีผู้คัดข้อความที่เรียกว่า “คาถาพระสุพรรรณกัลยา” ส่งมาให้ผู้เขียนบาลีวันละคำช่วยแปล
“คาถาพระสุพรรรณกัลยา” ตามที่คัดมามีดังนี้ –
…………
เอหิภูโต มหาภูโต สะมะนุสโส สะเทวะโก
กะโรหิ เทวะทิตานัง
อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ
เอหิวิญญานะ สุพรรณกัลละยา เทวะทิตา
อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ
มานิมามา
…………
(๑) ปรับแก้ใหม่เท่าที่จะปรับได้
(เขียนแบบบาลีไทย)
เอหิ ภูโต มหาภูโต สะมะนุสโส สะเทวะโก
กะโรหิ เทวะธีตานัง
อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ
เอหิ วิญญาณะสุพัณณกัญญา เทวะธีตา
อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ
มานิมามา
(๒) แปลเท่าที่จะแปลได้
(คำบาลีเขียนแบบบาลี)
เอหิ ภูโต มหาภูโต สมนุสฺโส สเทวโก
จงมาเถิดท่านผู้เป็นภูต เป็นมหาภูต พร้อมทั้งมนุษย์ พร้อมทั้งเทวดา
กโรหิ เทวธีตานํ
ขอท่านจงกระทำ (ความสำเร็จ) แก่เทพธิดาทั้งหลาย
อาคจฺเฉยฺย
เทพธิดาพึงมา
อาคจฺฉาหิ
ขอท่านจงมาเถิด
เอหิ วิญฺญาณสุพณฺณกญฺญา เทวธีตา
ขอท่านผู้เป็นดวงวิญญาณของพระสุพรรณกัลยาเทพธิดาจงมาเถิด
อาคจฺเฉยฺย
เทพธิดาพึงมา
อาคจฺฉาหิ
ขอท่านจงมาเถิด
มานิ มามา.
มาที่นี่ จงมา จงมา
(๓) อธิบายเท่าที่จะอธิบายได้
(1) คำเดิมว่า “เทวะทิตานัง” เขียนผิด
เขียนตามรูปคำเดิมเป็น “เทวธีตานํ” (เทวะธีตานัง)
แต่ก็ยังผิดไวยากรณ์อยู่นั่นเอง
ที่ถูกจะต้องเป็น “เทวธีตรานํ” (เทวะธีตะรานัง) หรือ “เทวธีตูนํ” (เทวะธีตูนัง)
(2) คำเดิมว่า เอหิวิญญานะ สุพรรณกัลละยา เทวะทิตา
ปรับแก้ให้เป็นคำบาลีว่า เอหิ วิญฺญาณสุพณฺณกญฺญา เทวธีตา (เอหิ วิญญาณะสุพัณณะกัญญา เทวะธีตา)
คำว่า “วิญฺญาณสุพณฺณกญฺญา เทวธีตา” เจตนาของผู้คิดคำนี้คงจะให้มีความหมายว่า “ดวงวิญญาณของพระสุพรรณกัลยาเทพธิดา”
เอาคำไทยเขียนเป็นคำบาลีตรงๆ ตามแบบไทย จึงออกมาเป็นอย่างนี้
ถ้าจะใช้คำนั้นเขียนเป็นบาลีให้แปลว่า “ดวงวิญญาณของพระสุพรรณกัลยาเทพธิดา” จะต้องเขียนว่า “สุพณฺณกญฺญาย เทวธีตุยา วิญฺญาณํ” (สุพัณณะกัญญายะ เทวะธีตุยา วิญญาณัง)
ดังนั้น คำว่า “เอหิ วิญฺญาณสุพณฺณกญฺญา เทวธีตา” (ปรับแก้มาจากคำเดิม “เอหิวิญญานะ สุพรรณกัลละยา เทวะทิตา”) นี้ พึงทราบว่าเป็นบาลีไทย คือใช้คำบาลีพูดอย่างภาษาไทย ไม่ใช่คำบาลีที่ถูกต้อง
(3) คำว่า “อาคจฺเฉยฺย อาคจฺฉาหิ” (อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ)
เป็นข้อความตอนหนึ่งในคำสวดญัตติจตุตถกรรมวาจา (สวดนาค-ในเวลาบวชพระ)
“อาคจฺเฉยฺย” เป็นคำที่พระคู่สวดบอกแก่สงฆ์ แปลว่า “ผู้จะอุปสมบทคนนั้นพึงมา” หมายถึงนาคคนนั้นควรจะเข้ามาในที่ชุมนุมสงฆ์เพื่อซักถามและทำพิธีอุปสมบทต่อไป
“อาคจฺฉาหิ” แปลว่า “เจ้าจงมา” เป็นคำที่พระคู่สวดบอกแก่นาคให้เข้ามาในที่ชุมนุมสงฆ์
นักเล่นคาถาหยิบยกเอา 2 คำนี้มาใช้เป็นคาถาเรียกคน คือเรียกคนให้มาเที่ยวงาน เรียกคนให้มาเข้าร้านซื้อของ เรียกคนให้มาช่วยสนับสนุนในเรื่องนั้นๆ เป็นต้น
(4) “มานิ มามา”
เป็นคำที่มาจากคำไทยว่า “มานี่ มา มา” แต่หลอกรูปหลอกเสียงให้ฟังว่าเป็นคำบาลี
การเอาคำไทยใส่ปนไปกับคำบาลีเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของวงการคาถาอาคมไทย
…………..
ดูก่อนภราดา!
ชานาหิ สพฺพสทฺเธยฺยํ
มา สทฺเธ สพฺพชานิตํ.
: จงรู้ทุกเรื่องที่ท่านศรัทธา
: แต่ไม่จำเป็นต้องศรัทธาทุกเรื่องที่ท่านรู้
#บาลีวันละคำ (2,089)
2-3-61