นิตยภัต (บาลีวันละคำ 833)
นิตยภัต
อ่านว่า นิด-ตะ-ยะ-พัด
ประกอบด้วยคำว่า นิตย + ภัต
“นิตย” บาลีเป็น “นิจฺจ” (นิด-จะ) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “สิ่งที่ไม่เป็นไปตามสภาพ” คือ “ตามสภาพ” แล้ว สิ่งทั้งหลายจะต้องไม่คงทนยั่งยืน สิ่งใดเป็น “นิจฺจ” ก็หมายความสิ่งนั้น “ไม่เป็นไปตามสภาพ”
(2) “สิ่งที่ไม่ถึงความพินาศ” คือไม่เปลี่ยนไปจากสภาพเดิม ถ้าเปลี่ยน ก็คือสภาพเดิม “พินาศ” ไป
(3) “สิ่งที่นำไปสู่ความเที่ยง” ความเที่ยงอยู่ที่ไหน ก็นำไปสู่ที่นั่น ดังนั้น ที่นั่นจึงเรียกว่า “นิจฺจ”
“นิจฺจ” มีความหมายว่า เสมอไป, สมํ่าเสมอ, ต่อเนื่องกันไป, ถาวร (constant, continuous, permanent)
“นิจฺจ” สันสกฤตเป็น “นิตฺย” ภาษาไทยใช้ทั้งแบบบาลี คือ “นิจ” (ตัด จ ออกตัวหนึ่ง) ก็มี เช่น “นิจศีล” และใช้ตามสันสกฤตเป็น “นิตย” ก็มี เช่นในคำว่า “นิตยภัต” นี้
“ภัต” บาลีเป็น “ภตฺต” (พัด-ตะ) แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องกิน” “ของที่จะพึงกลืนกิน” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” ว่า feeding, food, nourishment, meal หมายถึง การเลี้ยง, อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ
ข้อความบางแห่งในคัมภีร์ คำว่า “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไป “ภตฺต” หมายถึง อาหาร (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นข้าว)
นิจฺจ + ภตฺต = นิจฺจภตฺต > นิตยภัต แปลตามศัพท์ว่า “อาหารประจำ” (a continuous food-supply) หมายถึง อาหารที่ผู้มีศรัทธาจัดถวายพระภิกษุสามเณรเป็นประจำ
ความเป็นมาของ “นิจฺจภตฺต” เนื่องมาจากภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนามีธรรมเนียมต้องดำรงชีพด้วยอาหารที่ได้มาจากการเที่ยวบิณฑบาตโดยไม่เลือกบ้าน (คือจะเลือกรับเฉพาะบ้านนี้ ไม่รับบ้านนั้น ไม่ได้ และจะไม่ออกบิณฑบาตก็ผิดธรรมเนียม)
ต่อมามีญาติโยมมีศรัทธาประสงค์จะจัดอาหาร (ภตฺต) ถวายเป็นประจำ (นิจฺจ) แก่ภิกษุบางรูป จึงมีพุทธานุญาตให้รับอาหารเช่นนั้นได้ กล่าวคือภิกษุรูปนั้นสามารถไปฉันภัตตาหารที่บ้านโยมผู้นั้นโดยไม่ต้องเที่ยวบิณฑบาต กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าสามารถไปบิณฑบาตเฉพาะบ้านโยมที่ถวายประจำได้ จึงเรียกอาหารเช่นนั้นว่า “นิจฺจภตฺต”
กาลต่อมา ญาติโยมที่จัด “นิจฺจภตฺต” ถวายอาจไม่สะดวกด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะจัดอาหารถวายโดยตรง จึงมอบเงินค่าอาหารให้แก่ไวยาวัจกร (ผู้ปฏิบัติพระ) โดยมอบให้ไวยาวัจกรรับหน้าที่จัดอาหารถวายแทน คำว่า “นิจฺจภตฺต” (นิตยภัต) จึงกลายความหมายจาก “อาหาร” มาเป็น “เงิน” (ค่าอาหาร)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 (ยกเลิกแล้ว) บอกไว้ว่า –
“นิตยภัต : (คำนาม) อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายภิกษุสามเณรเป็นนิตย์. (ส. นิตฺย + ป. ภตฺต)”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 (ใช้อยู่ในปัจจุบัน) เพิ่มเติมบทนิยามเป็นดังนี้ –
“นิตยภัต : (คำนาม) อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายภิกษุสามเณรเป็นนิตย์, เงินงบประมาณแผ่นดินที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเป็นประจำทุกปี เพื่อเบิกจ่ายถวายอุดหนุนอุปถัมภ์แก่พระภิกษุผู้ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ พระสังฆาธิการ พระเลขานุการ พระเปรียญธรรม ๙ ประโยคเป็นต้น. (ส. นิตฺย + ป. ภตฺต)”
: เสียเวลากับเรื่องกินให้น้อยที่สุด
: จะมีเวลาทำสิ่งที่มีประโชยน์อื่นๆ ได้มากที่สุด
#บาลีวันละคำ (833)
29-8-57