นมัสการ (บาลีวันละคำ 1,069)
นมัสการ
หญ้าปากคอกที่ลืมเคี้ยว
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นมัสการ : (คำนาม) การแสดงความอ่อนน้อมด้วยการกราบไหว้; คําที่ใช้ขึ้นต้นและลงท้ายจดหมายที่มีไปถึงพระภิกษุสามเณร. (ป. นมกฺการ; ส. นมสฺการ).”
พจน.54 บอกว่า บาลีเป็น “นมกฺการ” สันสกฤตเป็น “นมสฺการ”
ความจริง พจน.54 เก็บไว้ทั้ง “นมักการ” (นะ-มัก-กาน) และ “นมัสการ” (นะ-มัด-สะ-กาน) บอกว่า “นมักการ” เป็นคำ “แบบ” หมายถึงคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป ทั้ง “นมักการ” และ “นมัสการ” ใช้คำอธิบายความหมายร่วมกันดังที่นำมาแสดงข้างต้น
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นมสฺการ : (คำนาม) ‘นมัสการ,’ การน้อมคำนับ, การกราบไหว้หรือปราไสด้วยความเคารพ; reverence, respectful salutation or reverential address.”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “นมัสการ” ในภาษาอังกฤษไว้ว่า –
“นมัสการ (Namakkāra) : salutation; the act of paying homage; homage; veneration; (in Thai usage) salutation with joined palms.”
“นมักการ” บาลีเขียน “นมกฺการ” อ่านว่า นะ-มัก-กา-ระ ประกอบด้วย นม + การ, ซ้อน กฺ จึงเป็น นมกฺการ
(๑) “นม” (นะ-มะ) รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = นอบน้อม) + อ ปัจจัย
: นมฺ + อ = นม แปลว่า การนอบไหว้, ความนอบน้อม, ความเคารพ (homage, veneration)
คำที่เราคุ้นกันมากที่สุดคือ “นโม” ก็คือ “นม” คำนี้
(๒) “การ” รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ก– เป็น อา
: กรฺ + ณ = กร > การ แปลตามศัพท์ว่า “การทำ”
“การ” ถ้าใช้ตามลำพัง มีความหมายว่า การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา ความเคารพ หรือความนับถือ; ผู้ทำ ผู้จัดการ หรือผู้ค้า
“การ” ถ้าใช้ต่อท้ายคำอื่น มีความหมายแตกต่างกันไปตามคำนั้นๆ เช่น –
อหํการ = อหังการ “กระทำว่าเรา” = มองเห็นแต่ตนเอง (selfishness)
อนฺธการ = อันธการ “กระทำความมืด” = ความมืด (darkness)
สกฺการ = สักการ = การสักการะ, เครื่องสักการะ (homage)
พลกฺการ = พลการ = การใช้กำลัง (forcibly)
ในภาษาไทย เรานำคำว่า “การ” มาใช้และกลายเป็นคำไทยจนแทบจะไม่ได้นึกว่าเป็นบาลี เช่นคำว่า “จัดการ” “เผด็จการ” เป็นต้น
นม + ก + การ = นมกฺการ แปลตามศัพท์ว่า “การทำความนอบน้อม”
เรานิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “นมัสการ”
ความจริงบาลีมี นมสฺสฺ (ธาตุ = กราบ, ไหว้) คำที่ออกมาจากธาตุตัวนี้เช่น “นมสฺสามิ” (นะ-มัด-สา-มิ) ในคำว่า “ธมฺมํ นมสฺสามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระธรรม”
นมสฺสฺ + การ = นมสฺสการ ก็ตรงกับที่เราใช้ว่า “นมัสการ” ได้เช่นกัน
ท่านว่า “นมัสการ” ที่ถูกต้องสมบูรณ์ต้องพร้อมทั้งไตรทวาร คือ กาย วาจา และใจ
คนไทยพูดและเขียนคำว่า “นมัสการ” กันจนชิน และบางทีก็พูดตามวัฒนธรรมโดยไม่ได้นึกถึงความหมายที่แท้จริง
: นมัสการจริงที่มีอยู่ในใจ
: มีค่ากว่าการกราบไหว้ด้วยมารยา
22-4-58