กรรมฐาน (บาลีวันละคำ 832)
กรรมฐาน
อ่านว่า กำ-มะ-ถาน
ประกอบด้วยคำว่า กรรม + ฐาน
“กรรม” บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ) ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ > ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม > -มฺม
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
“กมฺม” สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “กรรม” มีความหมายหลายอย่าง –
(1) การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
(2) การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
(3) การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
(4) พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปก็คือ การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (action, the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
“ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน
: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล”
“ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)
กมฺม + ฐาน = กมฺมฏฺฐาน (กำ-มัด-ถา-นะ)
โปรดสังเกตว่า มีอักษร ฏ ปฏัก ซ้อนแทรกระหว่าง กมฺม|ฏ|ฐาน
เขียนตามศัพท์เดิมเป็น “กัมมัฏฐาน” อ่านแบบไทยว่า กำ-มัด-ถาน
เขียนแบบลูกครึ่งสันสกฤต (กรรม) – บาลี (ฐาน) เป็น “กรรมฐาน” อ่านว่า กำ-มะ-ถาน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “กัมมัฏฐาน” และ “กรรมฐาน” บอกความหมายไว้ว่า “ที่ตั้งแห่งการงาน หมายเอาอุบายทางใจ มี ๒ ประการ คือ สมถกรรมฐาน เป็นอุบายสงบใจ และวิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายเรืองปัญญา”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
(1) กัมมัฏฐาน : ที่ตั้งแห่งการงาน, อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งการงานของใจ, อุบายทางใจ, วิธีฝึกอบรมจิตใจและเจริญปัญญา
(2) กัมมัฏฐาน 2 โดยหลักทั่วไป คือ 1. สมถกัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการทำจิตใจให้สงบ, วิธีฝึกอบรมเจริญจิตใจ 2. วิปัสสนากัมมัฏฐาน กรรมฐานเพื่อการให้เกิดความรู้แจ้ง, วิธีฝึกอบรมเจริญปัญญา”
(3) สิ่งที่นิยมใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ซึ่งพึงเลือกใช้ให้เหมาะกับตน เช่นให้ตรงกับจริต มี 40 อย่าง ได้แก่ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 พรหมวิหาร 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถาน 1 อรูป 4
ส่วนสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน คือรูป-นาม หรือขันธ์ 5
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “กรรมฐาน” เป็นภาษาอังกฤษว่า
“Kammaṭṭhāna : subject of meditation; meditation exercises; the act of meditation or contemplation; ground for mental culture.”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ กล่าวถึง “กรรมฐาน” ไว้ว่า –
Kammaṭṭhāna : kamma-subject, a technical term referring to the instruments of meditation, esp. objects used by meditation to realize impermanence. These exercises (“stations of exercise”) are highly valued as leading to Arahantship (กรรมฐาน : ศัพท์เฉพาะหมายถึงเครื่องมือของกรรมฐาน, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์ที่ใช้ในการบำเพ็ญกรรมฐาน เพื่อให้รู้ถึงสิ่งที่ไม่เที่ยง. อารมณ์กรรมฐานเหล่านี้ มีคุณค่ายิ่งอันจะนำไปสู่ความเป็นพระอรหันต์)
: เมื่อวานนี้ฝรั่งมาเรียนกรรมฐานกับคนไทย
: แต่พรุ่งนี้คนไทยจะต้องไปเรียนกรรมฐานกับฝรั่ง
เรียนรู้แต่ไม่ทำ ก็เป็นกรรมของเรา
—————-
(ตามคำขอของพระคุณท่าน สามเณรคริสเบิร์นลีย์ ฟอเรสต์กรีน)
#บาลีวันละคำ (832)
28-8-57