บาลีวันละคำ

น้ำมนต์ (บาลีวันละคำ 1,579)

น้ำมนต์

ไทยปนบาลี

อ่านว่า น้ำ-มน

(๑) “น้ำ

เป็นคำไทย หมายถึง “สารประกอบซึ่งมีองค์ประกอบเป็นธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจนในอัตราส่วน ๑ : ๘ โดยนํ้าหนัก เมื่อบริสุทธิ์มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี กลิ่น รส มีประโยชน์มาก เช่นใช้ดื่ม ชําระล้างสิ่งสกปรก” (พจน.54)

(๒) “มนต์

บาลีเป็น “มนฺต” (มัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย

: มนฺ + = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นเหตุให้รู้

(2) มนฺต (ธาตุ = ปรึกษา) + ปัจจัย

: มนฺต + = มนฺต แปลตามศัพท์ว่า “การปรึกษา

มนฺต” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีมีความหมายดังต่อไปนี้ –

1 ความหมายเดิม คือ คำพูดหรือคำตัดสินของเทพเจ้าบนสวรรค์ แล้วกลายมาเป็นประมวลคำสอนที่เร้นลับของศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้แก่คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ หรือคัมภีร์พระเวท (a divine saying or decision, hence a secret plan)

2 คัมภีร์ศาสนา, บทร้องสวด, การร่ายมนตร์ (holy scriptures in general, sacred text, secret doctrine)

3 ศาสตร์ลี้ลับ, วิทยาคม, เสน่ห์, คาถา (divine utterance, a word with supernatural power, a charm, spell, magic art, witchcraft)

4 คำแนะนำ, คำปรึกษา, แผนการ, แบบแผน (advice, counsel, plan, design)

5 เล่ห์เหลี่ยม, ชั้นเชิง (a charm, an effective charm, trick)

6 สูตรวิชาในศาสตร์สาขาต่างๆ (เช่น H2O = น้ำ หรือแม้แต่สูตรคูณ ก็อยู่ในความหมายนี้) (law)

7 ปัญญา, ความรู้ (wisdom, knowledge, insight, discernment)

มนฺต” ในภาษาไทยใช้ว่า “มนต์” ตามบาลี และ “มนตร์” ตามสันสกฤต

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนต์, มนตร์ : (คำนาม) คําศักดิ์สิทธิ์, คําสําหรับสวดเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น สวดมนต์, คำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น ร่ายมนตร์ เวทมนตร์. (ป. มนฺต; ส. มนฺตฺร).”

น้ำ + มนต์ = น้ำมนต์ แปลอนุรูปแก่ศัพท์ว่า “น้ำที่เสกด้วยมนต์

พจน.54 บอกไว้ว่า –

น้ำมนต์, น้ำมนตร์ : (คำนาม) นํ้าที่เสกเพื่ออาบ กิน หรือ ประพรมเป็นต้น ถือกันว่าเป็นมงคล.”

บรรยายความ:

น้ำมนต์” ในพระพุทธศาสนามีที่มาเกี่ยวด้วยพระสูตรที่ชื่อ “รตนสูตร

รตนสูตรเป็นสูตรที่ว่าด้วยคุณค่าและอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย เป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าประทานแก่ชาวเมืองเวสาลีเมื่อคราวประสบวิกฤตการณ์อันเลวร้าย

อรรถกถาเล่าว่า คราวหนึ่ง ที่เมืองเวสาลี ได้เกิดทุพภิกขภัยใหญ่ ผู้คนล้มตาย ซากศพเกลื่อนเมือง พวกอมนุษย์ก็เข้ามา แถมอหิวาตกโรคซ้ำอีก ในที่สุด กษัตริย์ลิจฉวีตกลงไปอาราธนาพระพุทธเจ้า ซึ่งเวลานั้นประทับที่เมืองราชคฤห์ (ยังอยู่ในรัชกาลของพระเจ้าพิมพิสาร) ขอให้เสด็จมา พระพุทธองค์ประทับเรือเสด็จมา เมื่อถึงเขตแดน พอย่างพระบาทลงทรงเหยียบฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็ตกลงมาจนน้ำท่วม พัดพาซากศพลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด และเมื่อเสด็จถึงเมืองเวสาลี ท้าวสักกะและประดาเทพก็มาชุมนุมรับเสด็จ เป็นเหตุให้พวกอมนุษย์หวาดกลัว พากันหนีไป

ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรตนสูตรให้พระอานนท์เรียนและเดินทำปริตรไปในระหว่างกำแพงเมืองทั้ง 3 ชั้น พระอานนท์เรียนรตนสูตรนั้นแล้วสวดเพื่อเป็นปริตร คือเป็นเครื่องคุ้มครองป้องกัน พร้อมทั้งถือบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำเดินพรมไปทั่วทั้งเมือง

เรื่องที่อรรถกถาเล่านี้ น่าจะเป็นที่มาของประเพณีการเอาน้ำใส่บาตรทำน้ำมนต์ แล้วพรมน้ำมนต์เพื่อความสุขสวัสดี

…………

ขอคัดข้อความตอนหนึ่งจากคำว่า “ปริตร” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้ เพื่อให้มองเห็นเจตนารมณ์ของการสวดพระปริตรซึ่งเป็นที่มาของการทำ “น้ำมนต์

………….

………….

กล่าวได้ว่า การสวดพระปริตรเป็นการปฏิบัติสืบเนื่องจากความนิยมในสังคมซึ่งมีการสวดสาธยายร่ายมนต์ (มันตสัชฌายน์, มันตปริชัปปน์) ที่แพร่หลายเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในศาสนาพราหมณ์ แต่ได้ปรับแก้จัดและจำกัดทั้งความหมาย เนื้อหา และการปฏิบัติ ให้เข้ากับคติแห่งพระพุทธศาสนา อย่างน้อยเพื่อช่วยให้ชนจำนวนมากที่เคยยึดถือมาตามคติพราหมณ์และยังไม่เข้มแข็งมั่นคงในพุทธคติ หรืออยู่ในบรรยากาศของคติพราหมณ์นั้น และยังอาจหวั่นไหว ให้มีเครื่องมั่นใจและให้มีหลักเชื่อมต่อที่จะช่วยพาพัฒนาก้าวต่อไป,

………….

………….

๓) โดยหลักการ: ปริตรเป็นไปตามหลักพระพุทธศาสนาที่ถือธรรมเป็นใหญ่สูงสุด ไม่มีการร้องขอหรืออ้างอำนาจของเทพเจ้า … ปริตรไม่อิงและไม่เอื้อต่อกิเลสโลภะ โทสะ โมหะเลย เน้นแต่ธรรม เฉพาะอย่างยิ่งเมตตาและสัจจะ … และอ้างพุทธคุณหรือคุณพระรัตนตรัยทั้งหมดเป็นอำนาจคุ้มครองรักษาอำนวยความเกษมสวัสดี ในหลายปริตรมีคำแทรกเสริม บอกให้เทวดามีเมตตาต่อหมู่มนุษย์ ทั้งเตือนเทวดาว่ามนุษย์ได้พากันบวงสรวงบูชา จึงขอให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาเขาด้วยดี

๔) โดยประโยชน์: ความหมายและการใช้ประโยชน์จากปริตร ต่างกันไปตามระดับการพัฒนาของบุคคล ตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป ที่มุ่งให้เป็นกำลังอำนาจปกปักรักษาคุ้มครองป้องกัน จนถึงพระอรหันต์ซึ่งใช้เจริญธรรมปีติ แต่ที่ยืนเป็นหลักคือ ช่วยให้จิตของผู้สวดและผู้ฟังเจริญกุศล เช่น ศรัทธาปสาทะ ปีติปราโมทย์และความสุข ตลอดจนตั้งมั่นเป็นสมาธิ รวมทั้งเตรียมจิตให้พร้อมที่จะก้าวสู่ภูมิธรรมที่สูงขึ้นไป คือเป็นกุศลภาวนา เป็นจิตตภาวนา

………….

………….

(ดูเพิ่มเติม : “รตนสูตร” บาลีวันละคำ (914) 18-11-57)

………….

: น้ำมนต์จะศักดิ์สิทธิ์

: เมื่อน้ำจิตมีคุณธรรม

30-9-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย