มธุปายาส (บาลีวันละคำ 1,578)
มธุปายาส
อ่านว่า มะ-ทุ-ปา-ยาด
ประกอบด้วย มธุ + ปายาส
(๑) “มธุ”
อ่านว่า มะ-ทุ รากศัพท์มาจาก –
1) มธฺ (ธาตุ = สดชื่น) + อุ ปัจจัย
: มธฺ + อุ = มธุ แปลตามศัพท์ว่า “น้ำที่สดชื่น”
2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุ ปัจจัย, แปลง น เป็น ธ
: มนฺ + อุ = มนุ > มธุ แปลตามศัพท์ว่า “น้ำอันผู้ดื่มรู้ว่าหวาน”
“มธุ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง น้ำผึ้ง (honey)
(๒) “ปายาส”
บาลีอ่านว่า ปา-ยา-สะ รากศัพท์มาจาก –
1) ปา (ธาตุ = ดื่ม) + อสฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อา ที่ ปา เป็น อาย (ปา > ปาย), ทีฆะ อะ ที่ อ-(สฺ) เป็น อา (อสฺ > อาส)
: ปา > ปาย + อสฺ = ปายส > ปายาส แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวที่มีภาวะสองประการ คือดื่มก็ได้ กินก็ได้”
คำแปลนี้ทำให้สันนิษฐานว่า กระบวนการปรุงข้าวปายาสน่าจะมี 2 ระยะ คือ ระยะที่ยังเป็นน้ำอยู่ก็สามารถดื่มได้ และเมื่อเคี่ยวต่อไปจนน้ำแห้งก็เป็นของกินได้
2) ปย (น้ำนม) + ณ ปัจจัย, ลง ส อาคมระหว่าง ปย กับ ณ (ปย + ส + ณ), ลบ ณ, ทีฆะสระต้นศัพท์ด้วยอำนาจ ณ ปัจจัย (ปย > ปาย), ทีฆะ อะ ที่ ย เป็น อา
: ปย + ส + ณ = ปยสณ > ปายส > ปายาส แปลตามศัพท์ว่า “ข้าวที่ระคนหรือที่เกิดได้ด้วยน้ำนม”
“ปายาส” (ปุงลิงค์ และ นปุงสกลิงค์) หมายถึง ข้าวที่หุงด้วยน้ำนม, ข้าวเจือน้ำนม, ข้าวปายาส (rice boiled in milk, milk-rice, rice porridge)
มธุ + ปายาส = มธุปายาส แปลว่า ข้าวปายาสผสมน้ำผึ้ง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มธุปายาส : (คำนาม) ข้าวปายาสเจือนํ้าผึ้ง ใช้เป็นของหวานในงานรื่นเริง. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“มธุปายาส : ปายาส (ข้าวสุกหุงด้วยนมโค) ซึ่งปรุงปรายด้วยน้ำผึ้ง นางสุชาดาถวายแก่พระมหาบุรุษในเวลาเช้าของวันที่พระองค์จะได้ตรัสรู้.”
ขยายความ :
ข้าวมธุปายาสตำรับนางสุชาดานับว่าขึ้นชื่อที่สุด เพราะมีวิธีเตรียมน้ำนมที่พิสดารมาก
ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ปริจเฉทที่ ๘ พุทธบูชาปริวัตน์ บรรยายความตอนนี้ไว้ว่า –
………….
………….
…..เอาฝูงโคนมมาประมาณ ๑,๐๐๐ ไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ ให้บริโภคเครือชะเอมหวังจะให้น้ำนมนั้นมีรสหวาน แล้วจึงให้แบ่งโคนม ๑,๐๐๐ นั้นกระทำออกเป็นสองพวก พวกละ ๕๐๐ จึงให้รูดเอาน้ำนมแห่งแม่โค ๕๐๐ นั้นมาให้แม่โคพวกหนึ่งอีก ๕๐๐ นั้นบริโภค แล้วให้แบ่งแม่โค ๕๐๐ พวกนั้นออกไปเป็นสองพวก พวกละ ๒๕๐ เล่า ให้รูดน้ำนมแม่โค ๒๕๐ พวกหนึ่ง มาให้แม่โค ๒๕๐ อีกพวกหนึ่งนั้นกิน แต่แบ่งลดกึ่งกันลงมาทุกชั้นๆ ให้แม่โคกินน้ำนมแห่งกันๆ ต่อๆ ลงไปจนตราบเท่า ๑๖ ตัว แบ่งออกเป็นสองพวก พวกละ ๘ ตัว ให้กินน้ำนมแห่งกันอีกเล่า เพื่อประโยชน์จะให้ขีรธารานั้นข้นมีรสหวานยิ่งกอปรด้วยโอชะอันเลิศ …..
………….
………….
จากนั้นจึงเอาน้ำนมโคที่ได้ตามกรรมวิธีนี้ไปเคี่ยวปรุงเป็นมธุปายาสต่อไป
“มธุปายาส” มักเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า “ข้าวทิพย์” พิธีกวนตามตำราท่านว่าต้องใช้สาวพรหมจารีเป็นผู้กวน
ถือกันว่า ใครได้กิน “มธุปายาส” หรือ “ข้าวทิพย์” ที่กวนถูกต้องตามตำหรับแล้วจะเกิดสิริมงคลนักแล
………….
ดูก่อนภราดา!
: ทำมาหากินอย่างบริสุทธิ์สะอาด
: เท่ากับได้กินข้าวมธุปายาสอยู่แล้วทุกวัน
29-9-59