ปรีดิฉายาลักษณ์ (บาลีวันละคำ 1,629)
ปรีดิฉายาลักษณ์
อ่านว่า ปฺรี-ดิ-ฉา-ยา-ลัก
ประกอบด้วย ปรีดิ + ฉายา + ลักษณ์
(๑) “ปรีดิ”
บาลีเป็น “ปีติ” (ปี– สระ อี) รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ติ ปัจจัย
: ปี + ติ = ปีติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติ” ว่า emotion of joy, delight, zest, exuberance (ความรู้สึกยินดี, ความอิ่มใจ, ความปราโมทย์, ความซาบซ่านหรือดื่มด่ำ)
“ปีติ” เป็นคุณภาพจิต ท่านแบ่งลักษณะไว้เป็น 5 อย่าง
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ประมวลความไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ดังนี้ –
[226] ปีติ 5 (ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำ — joy; interest; zest; rapture)
1. ขุททกาปีติ (ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล — minor rapture; lesser thrill)
2. ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ — momentary or instantaneous joy)
3. โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือปีติเป็นพักๆ ให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกาย ดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง — showering joy; flood of joy)
4. อุพเพคาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบา ลอยขึ้นไปในอากาศ — uplifting joy)
5. ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านแผ่เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิ ท่านมุ่งเอาข้อนี้ — suffusing joy; pervading rapture)
โปรดเปรียบเทียบกับความเข้าใจของฝรั่งที่ศึกษาบาลีแล้วขยายความไว้ดังนี้ –
1 khuddikā pīti : slight sense of interest (ความรู้สึกตื่นเต้นนิดๆ)
2 khaṇikā pīti : momentary joy (ความดีใจชั่วครู่)
3 okkantikā pīti : oscillating interest, flood of joy (ความตื่นเต้นที่แกว่งไปมา หรือขึ้นๆ ลงๆ หรือความดีใจที่ประดังขึ้นมา)
4 ubbegā pīti : ecstasy, thrilling emotion (ความซาบซ่านหรือความปลาบปลื้มอย่างสุดขีด)
5 pharaṇā pīti : interest amounting to rapture, suffusing joy (ความตื่นเต้นถึงขีดลืมตัวหรือหมดสติ)
บาลี “ปีติ” สันสกฤตเป็น “ปฺรีติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรีติ : (คำนาม) ‘ปรีติ’ ความยินดี, ความปราโมท, ความสุข; ความรัก, ความเสน่หา, ความนับถือ, วธูของกามเทพ; นักษัตรโยคที่สองในจำนวนยี่สิบเจ็ด; joy, pleasure, happiness; love, affection, regard; the wife of Kāmadeva or Cupid; the second of the twenty-seven astronomical yogas.”
ในภาษาไทยมีใช้ทั้งรูปบาลี “ปีติ” และรูปที่อิงสันสกฤตเป็น “ปรีดิ, ปรีดิ์, ปรีดี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ปรีดิ, ปรีดิ์, ปรีดี : (คำนาม) ความอิ่มใจ, ความปลื้มใจ, ความยินดี. (ส. ปฺรีติ; ป. ปีติ).
(2) ปีติ : (คำนาม) ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ. (ป.; ส. ปฺรีติ).
ข้อสังเกต :
คำว่า “ปีติ” (ปี– สระ อี) มักมีผู้เข้าใจผิด จำผิด จำฝังใจ สะกดเป็น “ปิติ” (ปิ– สระ อิ) และมักอ้างว่าจำมาจากชื่อตัวละครในหนังสือแบบเรียน
อันที่จริง พจนานุกรมอันเป็นหลักวิชา และหนังสือตำราที่เป็นมาตรฐานท่านก็บอกไว้ชัดๆ ว่าคำนี้สะกด “ปีติ” ปี– สระ อี เห็นอยู่โต้งๆ แต่ก็ไม่ดู ไม่รับรู้ คงรับรู้แต่ที่สะกดผิดอยู่อย่างเดิม และเขียนเป็น “ปิติ” (ปิ– สระ อิ) อยู่นั่นแล้ว นับเป็นเรื่องชอบกลชนิดหนึ่งของคนไทย
(๒) “ฉายา”
รากศัพท์มาจาก ฉิ (ธาตุ = ตัด) + ย ปัจจัย, แปลง อิ ที่ ฉิ เป็น อา (ฉิ > ฉา) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ฉิ > ฉา + ย = ฉาย + อา = ฉายา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “สิ่งที่ตัดความสงสัย” หมายถึง เค้ารูป, ลักษณะที่เหมือน (image)
(2) “สิ่งที่ตัดความเหน็ดเหนื่อย” หมายถึง ที่ร่ม, ร่มเงา (shade, shadow)
ในที่นี้ “ฉายา” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
(๓) “ลักษณ์”
บาลีเป็น “ลกฺขณ” (ลัก-ขะ-นะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง น เป็น ณ
: ลกฺขฺ + ยุ > อน = ลกฺขน > ลกฺขณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “สภาวะอันธรรมดากำหนดไว้อย่างนั้นนั่นเอง”
(2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย”
“ลกฺขณ” หมายถึง สัญลักษณ์, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่นหรือลักษณะที่สำคัญ, คุณภาพ (sign, characteristic, mark, a distinguishing mark or salient feature, property, quality)
“ลกฺขณ” ใช้ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ลักษณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลักษณ-, ลักษณะ : (คำนาม) สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).”
“ลักษณ-, ลักษณะ” เมื่ออยู่โดดๆ หรืออยู่ท้ายคำและต้องการให้อ่านว่า “ลัก” จึงใส่ไม้ทัณฑฆาต (ที่มักเรียกกันว่า “การันต์”)ที่ ณ เขียนเป็น “ลักษณ์”
การประสมคำ :
ก. ฉายา + ลักษณ์ = ฉายาลักษณ์ แปลว่า ภาพถ่าย
ข. ปรีดิ + ฉายาลักษณ์ = ปรีดิฉายาลักษณ์ แปลว่า ภาพถ่ายที่ก่อให้เกิดความปลาบปลื้มใจ ความอิ่มใจ, ภาพถ่ายที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจ ความอิ่มใจ
…………..
“ปรีดิฉายาลักษณ์” เป็นคำวิสามานยนาม หรืออสาธารณนาม คือเป็นเป็นชื่อเฉพาะของหนังสือเล่มหนึ่งที่มีผู้จัดพิมพ์ขึ้น และตั้งชื่อเช่นนี้ด้วยเจตนาจะสื่อให้รู้ว่า หนังสือเล่มนี้รวบรวมภาพถ่ายที่ชวนให้เกิดความปลาบปลื้มใจ ความอิ่มใจ
ไม่รู้ความหมายของคำนี้ ก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นชื่อเฉพาะ ไม่ได้ใช้ทั่วไป แต่ถ้าเผื่อว่าใครมีหนังสือเล่มนี้หรือได้เห็นชื่อนี้ (เหมือนที่ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็น) จะได้รู้ความหมายที่ละเอียดพอสมควร เป็นอลังการแห่งความรู้ได้ส่วนหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: วันคืนล่วงไปๆ
: วันนี้ท่านทำให้เพื่อนมนุษย์ปลื้มใจบ้างแล้วหรือยัง?
19-11-59