ชาตะ – มรณะ (บาลีวันละคำ 903)
ชาตะ – มรณะ
คำที่จับคู่ผิด
ที่รูปของผู้ตายที่ตั้งในงานศพ หรือที่ด้านหน้าของที่บรรจุอัฐิ นิยมเขียนข้อความบอกวันเดือนปีที่เกิดและตาย เช่น –
——————————–
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
ชาตะ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๘๘
มรณะ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๘๘
——————————-
“ชาตะ” (ชา-ตะ) คือ เกิด
“มรณะ” (มะ-ระ-นะ) คือ ตาย
ผู้รู้ภาษาบาลีย่อมจะเข้าใจได้ว่า ชาตะ – มรณะ เป็นคำบาลีที่จับคู่ผิดกาล (tense) กล่าวคือ –
“ชาตะ” มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ต ปัจจัยอดีตกาล, แปลง ชนฺ เป็น ชา
: ชนฺ > ชา + ต = ชาต > ชาตะ แปลว่า “เกิดแล้ว” = การเกิดได้มีขึ้นเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่กำลังเกิด หรือจักเกิด
“มรณะ” มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: มรฺ + ยุ > อน = มรน > มรณ (มะ-ระ-นะ) แปลว่า “ความตาย” = เป็นการพูดลอยๆ ไม่ระบุกาล (ตายแล้ว กำลังตาย จักตาย)
ถ้าจะใช้คำให้ตรงข้อเท็จจริงและเข้าชุดกับ “ชาตะ – เกิดแล้ว” มรณะ จะต้องเป็น “มตะ” (มะ-ตะ) ซึ่งมาจาก มรฺ + ต ปัจจัย, ลบ –รฺ ที่สุดธาตุ
: มรฺ > ม + ต = มต > มตะ แปลว่า “ตายแล้ว” = การตายได้มีขึ้นเรียบร้อบแล้ว ไม่ใช่กำลังตาย หรือจักตาย
สรุปว่า ชาตะ ต้องจับคู่กับ มตะ :
“ชาตะ – มตะ”
ไม่ใช่ “ชาตะ – มรณะ”
: การที่จะไม่ตายมีวิธีเดียว คือไม่เกิด
#บาลีวันละคำ (903)
7-11-57