บาลีวันละคำ

ปัญจมหานที-แม่น้ำทั้งห้า (บาลีวันละคำ 902)

ปัญจมหานที-แม่น้ำทั้งห้า

แม่น้ำทั้งห้า ภาษาบาลีว่า “ปัญจมหานที” (ปัน-จะ-มะ-หา-นะ-ที)

ปัญจ บาลีเขียน “ปญฺจ” แปลว่า ห้า (จำนวน 5)

มหานที : มหา (ใหญ่, สำคัญ) + นที (แม่น้ำ) = มหานที แปลว่า แม่น้ำใหญ่, แม่น้ำสายสำคัญ

ปัญจ + มหานที = ปัญจมหานที แม่น้ำสำคัญ 5 สาย (the 5 great rivers) ในชมพูทวีป

ภาษาไทยมีสำนวน “ชักแม่น้ำทั้งห้า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชักแม่น้ำทั้งห้า : (สํานวน) (คำกริยา) พูดจาหว่านล้อมยกเหตุผลต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้ได้สิ่งที่ประสงค์ เช่น เถ้าก็พูดจาหว่านล้อมด้วยคํายอ ชักเอาแม่นํ้าทั้งห้าเข้ามาล่อ. (ม. ร่ายยาว กุมาร). (แม่น้ำทั้งห้าในสำนวนนี้หมายถึงแม่น้ำสายใหญ่ในอินเดีย ๕ สาย ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ).”

ความหมายของชื่อ และสังเขปข้อมูล :

(1) “คงคา” แปลว่า “แม่น้ำที่ไหลมาทำให้ห้วงน้ำใหญ่เป็นไป” (คือเมื่อไหลมาก็รวมเอาน้ำในลำน้ำแหล่งน้ำน้อยใหญ่มาด้วย ก่อให้เกิดปริมาณน้ำมากมายมหาศาล) เป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญลำดับที่ 1 ในปัญจมหานที และเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อันดับที่ 1 ในศาสนาพราหมณ์, แม่น้ำคงคามีความยาวประมาณ 2,510 กม. ตามที่บันทึกไว้ในอรรถกถาว่า มีต้นกำเนิดจากสระอโนดาต ในแดนหิมพานต์ ไหลไปสู่มหาสมุทร จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก ออกทะเลที่อ่าวเบงกอล (Bay of Bengal), ปัจจุบัน คนทั่วไปรู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่า Ganges

(2) “ยมุนา” (ยะ-มุ-นา) แปลว่า (1) “แม่น้ำที่ยังความสกปรกให้ระงับไป” (2) “แม่น้ำที่เป็นน้องสาวของพญายม” เป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญลำดับที่ 2 ในปัญจมหานที มีต้นกำเนิดร่วมกับแม่น้ำคงคา ที่สระอโนดาตในแดนหิมพานต์ และลงมาบรรจบกับแม่น้ำคงคาที่เมืองปยาคะ (ปัจจุบันคือ Allahabad) ไหลผ่านเมืองสำคัญ คือ Delhi เมืองหลวงปัจจุบันของอินเดีย

(3) “อจิรวดี” (อะ-จิ-ระ-วะ-ดี) แปลว่า “แม่น้ำที่มีการไหลไม่ช้า” คือมีกระแสเชี่ยว

เป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญลำดับที่ 3 ในปัญจมหานที ไหลผ่านเมืองสำคัญ คือ สาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล, ปัจจุบัน อจิรวดีเป็นแม่น้ำที่ไม่สำคัญอะไรนัก มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า Rapti

(4) “สรภู” (สะ-ระ-พู) แปลว่า “ลุ่มน้ำเป็นเหตุให้มีสระ” เป็นแม่น้ำใหญ่สายสำคัญลำดับที่ 4 ในปัญจมหานที ไหลผ่านเมืองสำคัญ คือ สาเกต, ปัจจุบัน สรภูไม่เป็นที่รู้จักทั่วไป มีชื่อในภาษาสันสกฤตว่า สรยู

(5) “มหิ” (มะ-หิ, ชื่อนี้เป็น “มหี” ก็มี) แปลว่า (1) “แม่น้ำอันผู้คนนับถือ” (2) “แม่น้ำที่เจริญ” คือกว้างใหญ่ เป็นแม่น้ำใหญ่ลำดับที่ 5 ในปัญจมหานที ไหลผ่านไปใกล้แคว้นอังคุตตราปะ, บางทีเรียก มหามหี บ้าง มหามหีคงคา บ้าง, ปัจจุบันน่าจะอยู่ในหรือใกล้เขตบังคลาเทศ

(เก็บความจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต)

: ทำความดีด้วยใจรัก ไม่ต้องรอให้ใครมาชักแม่น้ำทั้งห้า

#บาลีวันละคำ (902)

6-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *