ภิกษุ – ยาจก (บาลีวันละคำ 904)
ภิกษุ – ยาจก
“ภิกษุ” แปลว่า “ผู้ขอ”
“ยาจก” ก็แปลว่า “ผู้ขอ”
ต่างกันอย่างไร
“ภิกษุ” บาลีเป็น “ภิกฺขุ” (พิก-ขุ)
ข้อควรทราบคือ คำว่า ภิกฺขุ – ภิกษุ ไม่ได้แปลว่า “ผู้ขอ” เพียงอย่างเดียว แต่มีคำแปลอย่างอื่นอีกที่มีความหมายยิ่งกว่า “ผู้ขอ” กล่าวคือ –
(1) “ผู้ขอ” : ภิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภิกฺขฺ (ธาตุ = ขอ) + รู ปัจจัย, ลบ ร, รัสสะ อู เป็น อุ
(2) “ผู้นุ่งห่มผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย” : ภินฺนปฏธโรติ ภิกฺขุ = ภินฺนปฏ = ผ้าที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ, ธโร = ผู้ทรงไว้
(3) “ผู้เห็นภัยในการเวียนตายเวียนเกิด” : สํสาเร ภยํ อิกฺขตีติ ภิกฺขุ = ภย (ภัย) + อิกฺขฺ (ธาตุ = เห็น) + รู
(4) “ผู้ทำลายบาปอกุศล” : ภินฺทติ ปาปเก อกุสเล ธมฺเมติ ภิกฺขุ = ภิทฺ (ธาตุ = ทำลาย) + รู
(5) “ผู้ได้บริโภคอมตรสคือพระนิพพาน” : ภกฺขติ อมตรสํ ภุญฺชตีติ ภิกฺขุ = ภกฺขฺ (ธาตุ = บริโภค) + รู
ส่วน “ยาจก” (บาลีอ่านว่า ยา-จะ-กะ) รากศัพท์มาจาก ยาจฺ (ธาตุ = ขอ) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: ยาจฺ + ณฺวุ > อก = ยาจก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ขอ” และไม่มีคำแปลเป็นอย่างอื่นอีก
“ภิกฺขุ” และ “ยาจก” แม้จะแปลว่า “ผู้ขอ” เหมือนกัน แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งจัดทำโดยชาวอังกฤษในฐานะเจ้าของภาษาแปลเอง ก็ใช้คำแปลไม่ตรงกัน ซึ่งมีนัยว่า “ขอ” แบบภิกษุกับแบบยาจกน่าจะไม่เหมือนกัน ดังนี้ –
(1) ภิกฺขุ : an almsman, a mendicant, a Buddhist monk or priest, a bhikkhu (ผู้ขอ, บรรพชิต, พระหรือนักบวช).
(2) ยาจก : requesting, one who begs, a recipient of alms, a beggar (ยาจก, ผู้ขอ, ผู้รับทาน, ขอทาน).
ขอแบบภิกษุ กับ ขอแบบยาจก ต่างกันอย่างไร
(1) ขอแบบภิกษุ คือขอด้วยวิธียืนนิ่งให้เขาเห็น ไม่เอ่ยปากขอ ไม่เอ่ยวาจาเพื่อตอบแทนคุณ เป็นการขอแบบอารยชน รับเฉพาะอาหารและรับพอประมาณ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เป็นพุทธบัญญัติ จุดประสงค์เพื่อได้อาหารยังชีพและมีกำลังพอที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ กรณีทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้วก็เพื่อดำรงชีพทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก
(2) ขอแบบยาจก ออกปากขอหรือแสดงอาการอยากให้เขาให้จนออกนอกหน้า เอ่ยวาจาตอบแทนคุณเมื่อเขาให้ รับไม่จำกัด จุดประสงค์เพื่อยังชีพและเสพสุข มิได้มุ่งจะให้มีกำลังวังชาเพื่อปฏิบัติธรรมหรือทำกิจการงานอย่างอื่น
: ถ้าทำเหตุครบถ้วนกระบวนเพลง
: ผลจะมาเอง ไม่ต้องขอ
#บาลีวันละคำ (904)
8-11-57