บาลีวันละคำ

อัตถจริยา (บาลีวันละคำ 1,674)

อัตถจริยา

อ่านว่า อัด-ถะ-จะ-ริยา

ประกอบด้วย อัตถ + จริยา

(๑) “อัตถ

บาลีเขียน “อตฺถ” (อัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (อ)-รฺ เป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)

: อรฺ + = อรถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ

2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, แปลง ที่ (อ)-สฺ เป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)

: อสฺ + = อสถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์

3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + ปัจจัย

: อตฺถ + = อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ

อตฺถ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลายอย่าง เช่น –

(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)

(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)

(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)

(4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)

อตฺถ” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อรรถ, อรรถ– : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”

ในที่นี้ “อัตถ” เขียนตามรูปบาลี

(๒) “จริยา

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + อิย ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จรฺ + อิย = จริย + อา = จริยา

อีกนัยหนึ่ง จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), ลง อิ อาคมหน้า + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จรฺ + ณฺย = จรณฺย > จรย > จริย + อา = จริยา

จริยา” เป็นอิตถีลิงค์ และพึงทราบว่าศัพท์นี้ไม่ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ คงได้รูปเป็น “จริย” (จะ-ริ-ยะ) (นปุงสกลิงค์) ก็มี

จริย, จริยา แปลตามศัพท์ว่า “-ที่ควรประพฤติ” หมายถึง ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, การดำเนินชีวิต (conduct, behaviour, state of life)

อตฺถ + จริยา = อตฺถจริยา แปลตามศัพท์ว่า “การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์” หมายถึง การปฏิบัติหรือความประพฤติที่มีประโยชน์ (useful conduct or behavior)

อตฺถจริยา” เขียนแบบไทยเป็น “อัตถจริยา

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อัตถจริยา” เป็นอังกฤษว่า benefaction; useful conduct or behaviour; doing a favour; life of service; doing good.

ในทางธรรม “อัตถจริยา เป็นข้อที่ 3 ในสังคหวัตถุธรรม 4 ข้อ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ดังนี้ –

อัตถจริยา : การประพฤติประโยชน์ คือ ขวนขวายช่วยเหลือกิจการ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ตลอดถึงช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรม (Atthacariyā: useful conduct; rendering services; life of service; doing good).”

…………..

การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามแบบของคนเก่าๆ ท่านไม่เลือกว่าจะต้องรวมกลุ่มกันทำ หรือทำแล้วจะมีใครรู้เห็นหรือไม่ ทั้งไม่เลือกว่าจะต้องเป็นเรื่องใหญ่โต แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นเดินไปตามทางเห็นเศษแก้วแตกหรือเห็นท่อนไม้ก้อนหินตกขวางทาง ท่านก็เก็บออกให้พ้นทาง ทางเดินมีหญ้าหรือพุ่มไม้ข้างทางปรกรกทาง ท่านก็เอามีดพร้าหวดให้โปร่งโล่งสะดวกแก่การเดิน

เมื่อเป็นเด็ก ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยเดินตามหลังผู้ใหญ่เสมอ นอกจากหมาจะไม่กัดแล้ว ยังได้เห็นอัตถจริยที่ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่างอยู่เนืองๆ และยังทำตามท่านติดเป็นนิสัยมาจนถึงทุกวันนี้

…………..

ร่างกายมนุษย์นี้ไม่มีสิ่งที่เป็นสาระแท้จริงอยู่เลย

: คนส่วนมากใช้ทำสิ่งที่ไม่เป็นสาระแท้จริงซ้ำเข้าไปอีก

: แต่คนฉลาดใช้บำเพ็ญประโยชน์อันเป็นสาระแท้จริงได้เป็นอันมาก

ดูก่อนภราดา! ท่านอยู่ในจำพวกไหน?

3-1-60