บาลีวันละคำ

ขัตติยมานะ (บาลีวันละคำ 1,673)

ขัตติยมานะ

อ่านว่า ขัด-ติ-ยะ-มา-นะ

ประกอบด้วย ขัตติย + มานะ

(๑) “ขัตติย

บาลีเขียน “ขตฺติย” (ขัด-ติ-ยะ) รากศัพท์มาจาก –

1) ขตฺต (ขัด-ตะ = ผู้ป้องกันเขตแคว้น) + อิย ปัจจัย ( = ผู้เกิด, ผู้เป็นเชื้อสาย)

: ขตฺต + อิย = ขตฺติย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดในตระกูลของผู้ป้องกันเขตแคว้น

2) เขตฺต (เขด-ตะ = นา) + อิย ปัจจัย ( = ผู้เป็นใหญ่), ลบ เอ ที่ เขตฺต (เขตฺต > ขตฺต)

: เขตฺต + อิย = เขตฺติย > ขตฺติย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเจ้าของนา” “ผู้เป็นใหญ่ของพวกชาวนา

ขตฺติย สันสกฤตเป็น “กฺษตฺริย” เราเขียนตามรูปสันสกฤตเป็น “กษัตริย์” (กะ-สัด)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

กฺษตฺริย : (คำนาม)  ‘กษัตริย,’ นรหรือสตรีชาตินักรบ; a man or woman of the military tribe.”

คำนี้มีปฐมเหตุจากการตั้งชุมชนของมนุษย์แต่ดึกดำบรรพ์ ที่ต้องอาศัยพื้นที่เพื่อการเพาะปลูก เมื่อถูกมนุษย์พวกอื่นรบกวน ต้องมีคนที่คอยป้องกันเพื่อให้ชุมชนเพาะปลูกได้อย่างปลอดภัย

จึงเรียกคนที่ทำหน้าที่ป้องกันนี้ว่า “ขตฺติยกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่แห่งนา” ในความหมายดั้งเดิมคือ “ผู้ทำหน้าที่ปกป้องที่นาให้พ้นจากการรุกราน เพื่อให้คนอื่นๆ ทำนาได้อย่างสะดวกปลอดภัย”

ในการทำหน้าที่ปกป้องนี้ย่อมหลีกไม่พ้นที่จะต้องต่อสู้กับศัตรู ดังนั้น “ขตฺติยกษัตริย์” จึงมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า “สายเลือดนักรบ

ในภาษาบาลี ผู้ที่ถูกเรียกว่า “ขตฺติย” ไม่จำเป็นจะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน (the king) เสมอไป ถ้าเทียบในภาษาไทย “ขตฺติย” ก็ตรงกับคำที่เราเรียกท่านผู้กำเนิดในสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า “เจ้านาย” นั่นเอง

(๒) “มานะ

บาลีเขียน “มาน” (มา-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) มานฺ (ธาตุ = บูชา) + ปัจจัย

: มานฺ + = มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ให้เขาบูชา” คือต้องการให้เขานับถือ

(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง ต้นธาตุเป็น อา (มนฺ > มาน)

: มน + = มนณ > มน > มาน แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่สำคัญตนว่าดีกว่าเขาเป็นต้น

มาน” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความถือตัว, ความหยิ่ง, ความยโส (pride, conceit, arrogance) (ดูเพิ่มเติมที่ มาน : บาลีวันละคำ (87) 3-8-55)

ในภาษาไทย “มานะ” มีความหมายเพี้ยนไปเป็นว่า เพียรพยายาม ขยันมุ่งมั่น เช่นในคำว่า มานะพากเพียร มุมานะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มานะ ๒ : (คำนาม) ความพยายาม, ความตั้งใจจริง, ความพากเพียร, เช่น มีมานะอดทน มีมานะในการทำงาน; ความถือตัว”

ขตฺติย + มาน = ขตฺติยมาน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การถือตัวว่าเราเป็นกษัตริย์” (2) “มานะการของกษัตริย์

ขตฺติยมาน” เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์บาลี เขียนแบบไทยเป็น “ขัตติยมานะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทย ไว้ว่า –

ขัตติยมานะ : (คำนาม) การถือตัวว่าเป็นกษัตริย์หรือเชื้อสายกษัตริย์.”

อภิปราย :

ขัตติยมานะ” ตามความหมายในบาลี บ่งถึงการถือชั้นวรรณะตามระบบวรรณะ (caste-system) ของสังคมชาวชมพูทวีป คือชนชั้นสูงรังเกียจชนชั้นที่ต่ำกว่า ไม่แต่งงานด้วยและไม่ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันร่วมกัน โดยเฉพาะชั้นกษัตริย์ถือตัวว่าเป็นชนชั้นสูง คบค้าสมาคมอยู่แต่ในวรรณะของตน บางทีแม้เป็นชั้นกษัตริย์เหมือนกัน แต่ต่างวงศ์ ก็รังเกียจกัน

ขัตติยมานะ” อาจมีความหมายได้ทั้งทางลบและทางบวก

ทางลบ คือความรู้สึกรังเกียจผู้ที่ต่ำกว่า กลายเป็นการแบ่งชั้นวรรณะ ดูหมิ่นผู้อื่น หรืออาจถึงกับกดข่มคนอื่นเป็นการเพิ่มความชิงชังขึ้นไปอีก และอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ความพินาศของตนเองได้ ดังเรื่องขัตติยมานะของกษัตริย์วงศ์ศากยะเป็นเหตุให้ถูกฆ่าจนสูญสิ้นวงศ์ในที่สุด

ทางบวก คือในกรณีที่ชนชั้นสูงบางคนรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่นิยมของสังคม ก็อาจใช้ “ขัตติยมานะ” หรือเรียกเป็นภาษาปากว่า “ฮึดสู้” คือตั้งใจประกอบกรณีย์ด้วยความมุ่งมั่นว่าเราก็เกิดมาในตระกูลสูง ไฉนจะยอมแพ้ง่ายๆ แล้วอุตสาหะมุมานะสร้างสมเพิ่มพูนคุณความดีจนถึงที่สุด สามารถเอาชนะใจประชาชนได้อย่างสง่างามสมภาคภูมิ

…………..

แถม : “ขัตติยมานะ” ในภาษาไทยระวังอย่าใส่สระ อะ กลางคำเป็น “ขัตติยะมานะ”

ผิดนะ-จะบอกให้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเขลา ใช้มานะเพื่อเอาชนะคนอื่นอย่างผิดๆ

: บัณฑิต ใช้มานะเพื่อเอาชนะใจตัวเอง

2-1-60