สัมปรายภพ (บาลีวันละคำ 826)
สัมปรายภพ
อ่านว่า สำ-ปะ-รา-ยะ-พบ
ประกอบด้วยคำว่า สัมปราย + ภพ
“สัมปราย” บาลีเป็น “สมฺปราย” (สำ-ปะ-รา-ยะ) รากศัพท์มาจาก สํ (พร้อม, ร่วม) + ปร (เบื้องหน้า, ข้างหน้า, อื่นอีก) + อิ (แผลงเป็น อยฺ) หรือ อยฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + อ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น ม, ยืดเสียง อ– (ที่ อยฺ) เป็น อา– : อย > อาย
: สํ > สมฺ + ปร = สมฺปร + อิ > อยฺ > อาย = สมฺปราย แปลตามศัพท์ว่า “-อันบุคคลพึงถึงพร้อมในเบื้องหน้า (ตามอำนาจของกรรม)” หรือ “-เป็นที่ไปในเบื้องหน้า”
“ภพ” บาลีเป็น “ภว” (พะ-วะ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความมีความเป็น” (2) “ที่เป็นที่เกิดขึ้น” (3) “เหตุที่ทำให้มีการเกิดขึ้น” หมายถึง โลก, แผ่นดิน, ภูมิที่เกิด
“ภว” ในภาษาไทย แผลง ว เป็น พ จึงเป็น “ภพ”
สมฺปราย + ภว = สมฺปรายภว > สัมปรายภพ
คำนี้ถ้าตามหลักบาลีต้องเป็น สมฺปรายิก (สมฺปราย + อิก) + ภว = สมฺปรายิกภว > สัมปรายิกภพ (สำ-ปะ-รา-ยิ-กะ-พบ) มีความหมายว่า ชาติหน้า, โลกหน้า, วาสนาในอนาคต, เคราะห์กรรม, สถานภาพเมื่อไปเกิดใหม่ (future state, the next world, future lot, fate, state after death, future condition of rebirth)
คำที่เราได้ยินพูดกันบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อไปงานเผาศพ เช่น “ขอจงไปสู่สุคติในสัมปรายภพเบื้องหน้าโน้นเทอญ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สัมปรายภพ, สัมปรายิกภพ : (คำนาม) ภพหน้า. (ป., ส.)”
: ชาติหน้าไม่มี ทำความดี ชาตินี้ก็ไม่หนักแผ่นดิน
: ถ้าชาติหน้ามี ไม่ได้ทำความดี จะเอาอะไรกิน
————
(ตามคำขอของ นาย ว. ญาติพัฒน์ ผู้ยังอยู่ยืนยาวในชาตินี้)
#บาลีวันละคำ (826)
22-8-57