สมานัตตตา (บาลีวันละคำ 1,675)
สมานัตตตา
อ่านว่า สะ-มา-นัด-ตะ-ตา
แยกศัพท์เป็น สมาน + อัตต + ตา
(๑) “สมาน”
บาลีอ่านว่า สะ-มา-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = ห้อย, ย้อย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ยืดเสียง อะ ที่ –มฺ เป็น อา
: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมาน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ห้อยอยู่” คืออยู่เคียงคู่กัน หมายถึง เหมือนกัน, เสมอกัน, เท่ากัน, อย่างเดียวกัน (similar, equal, even, same)
(๒) “อัตต”
บาลีเขียน “อตฺต” (อัด-ตะ) มาจากรากศัพท์ดังนี้ :
(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ต ปัจจัย
: อตฺ + ต = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)
๒) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)
๓) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)
(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ต ปัจจัย, แปลง ท เป็น ต
: อทฺ + ต = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –
๑) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)
๒) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)
(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ต ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > อ)และ อา ที่ ธา (ธา > ธ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ
: อา + ธา = อาธา + ต = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)
“อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตติที่หนึ่ง (อตฺต เป็นรูปคำเดิม อตฺตา เป็นรูปคำที่แจกวิภัตติแล้ว)
“อตฺตา” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul)
“อตฺตา” หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ
ในทางปรัชญา “อตฺตา” หมายถึง ความยึดมั่นในตัวเอง ที่เรียกกันว่า “ตัวกูของกู” หรือที่รู้กันในคำอังกฤษว่า ego
อตฺตา ในภาษาไทยเขียนเป็น “อัตตา” ในที่นี้ใช้เป็น “อัตต”
(๓) “ตา”
เป็นปัจจัยในภาวตัทธิต (ตัทธิต เป็นแขนงหนึ่งของบาลีไวยากรณ์ ว่าด้วยศัพท์ที่ใช้ปัจจัยต่อท้ายแล้วมีความหมายต่างๆ กันไป)
“ภาวตัทธิต” (พา-วะ-ตัด-ทิด) คือศัพท์ที่ลงปัจจัยจำพวกหนึ่ง (นอกจาก “ตา” แล้วยังมีปัจจัยอื่นอีก) แล้วแปลว่า “ความเป็น–” เช่น “ธมฺมตา” (ทำ-มะ-ตา) = “ความเป็นแห่งธรรม” ที่เราเอามาใช้ว่า “ธรรมดา”
สมาน + อตฺต = สมานตฺต + ตา = สมานตฺตตา แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นแห่งตนที่เสมอกัน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมานตฺตตา” ว่า equanimity, impartiality (ความมีใจสงบ, ความมีตนสม่ำเสมอหรือไม่ลำเอียง)
“สมานตฺตตา” เขียนแบบไทยเป็น “สมานัตตตา”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “สมานัตตตา” เป็นอังกฤษว่า impartiality; sociability; state of equality; even and equal treatment; equality and participation.
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมานัตตตา : (คำนาม) ความมีตนสม่ำเสมอ, การทำตนเสมอต้นเสมอปลาย, เป็นธรรมข้อ ๑ ในสังคหวัตถุ. (ป.).”
ในทางธรรม “สมานัตตตา” เป็นข้อที่ 4 ในสังคหวัตถุธรรม 4 ข้อ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ดังนี้ –
“สมานัตตตา : ความมีตนเสมอ คือ ทำตนเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิบัติสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย และเสมอในสุขทุกข์โดยร่วมรับรู้ร่วมแก้ไข ตลอดถึงวางตนเหมาะแก่ฐานะ ภาวะ บุคคล เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม ถูกต้องตามธรรมในแต่ละกรณี (Samānattatā: even and equal treatment; equality consisting in impartiality, participation and behaving oneself properly in all circumstances).”
…………..
สรุปความหมายของ “สมานัตตตา” คือ :
๑ เสมอต้นเสมอปลาย จะเปลี่ยนฐานะเป็นอย่างไรก็ไม่ลืมกำพืดตัวเอง ตรงข้ามกับสำนวน “ลืมตัวเหมือนวัวลืมตีน”
๒ ร่วมสุขร่วมทุกข์ ไม่ทอดทิ้งกัน สุขเขาคือสุขเรา ทุกข์เขาคือทุกข์เรา ถ้ามีถึงขนาดก็เป็นอย่างที่พูดว่า “ตายแทนกันได้”
๓ วางตัวสมฐานะ ไม่สูงจนคนหมั่นไส้ ไม่ต่ำจนคนดูแคลน
ทั้งนี้ต้องเป็นการกระทำที่จริงใจ เป็นนิสัยใจคอเช่นนั้นจริงๆ ไม่ใช่เสแสร้งหรือที่เรียกกันว่า “สร้างภาพ” เพื่อหวังผล
ถ้าทำโดยไม่จริงใจ ก็เป็นการหลอกลวงดังที่บุคคลบางกลุ่มบางวงการในสังคมนิยมประพฤติต่อประชาชน อันเป็นการกระทำที่ควรแก่การรังเกียจของอารยชน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่สุข อย่าแสร้งสุขไปกับเขา
: ไม่เศร้า อย่างแสร้งเศร้าไปกับเพื่อน
ให้ความจริงใจกับเขาก็พอ – ถ้ามีนะ
4-1-60