วินิจฉัย (บาลีวันละคำ 924)
วินิจฉัย
อ่านว่า วิ-นิด-ไฉ
บาลีเป็น “วินิจฺฉย” อ่านว่า วิ-นิด-ฉะ-ยะ
“วินิจฺฉย” รากศัพท์มาจาก วิ (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นิ + (เข้า, ลง) + ฉิ (ธาตุ = ตัด) + อ ปัจจัย, ซ้อน จฺ ระหว่าง นิ กับ ฉิ, แปลง อิ (ที่ ฉิ) เป็น อย (สูตรเต็มว่า “แปลง อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย”)
: วิ + นิ + จ ( = วินิจฺ) + ฉิ > ฉย = วินิจฺฉย แปลตามศัพท์ว่า (1) “การตัดลงไปโดยวิเศษ” (ตัดอย่างเด็ดขาดแน่นอน) (2) “การตัดสินโดยอาการหลายอย่าง” (พิจารณาถึงเหตุผลหลายๆ อย่าง) (3) “การตัดสินโดยน้อมไปสู่วิธีต่างๆ” (นำเอาเรื่องที่ตัดสินไปเทียบเคียงกับเรื่องต่างๆ)
“วินิจฺฉย” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ –
(1) การวินิจฉัย, การแสดงความแตกต่าง, ความคิด, ความเห็นที่หนักแน่น; ความรู้ตลอด (discrimination, distinction, thought, firm opinion; thorough knowledge)
(2) การตัดสินใจ; การสืบสวน, การพิจารณา, คำวินิจฉัย (decision; investigation, trial, judgment)
(3) ศาล, ห้องพิพากษา (court house, hall of judgment)
(4) ขบวนการของการตัดสินใจ, การวิเคราะห์อย่างละเอียด, การประชุมปรึกษา, การพิจารณา, การสืบให้รู้แน่ (process of judgment, detailed analysis, deliberation, consideration, ascertainment) (เป็นศัพท์เฉพาะในตรรกศาสตร์และจิตวิทยา)
นัยหนึ่งว่า วินิจฺฉย ประกอบด้วย วิ + นิจฺฉย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิจฺฉย” (ไม่มี “วิ”) เป็นอังกฤษว่า discrimination, conviction, certainty; resolution, determination (ความพินิจพิเคราะห์, ความเชื่อมั่น, ความแน่นอน; การตัดสินใจ, ความตั้งใจ)
วินิจฺฉย สันสกฤตเป็น “วินิศฺจย” ภาษาไทยเขียนอิงบาลีเป็น “วินิจฉัย” แต่ก็มีคำที่เขียนอิงสันสกฤตว่า “พินิศจัย” แต่ไม่ได้ใช้คำนี้ในการพูดการเขียนโดยทั่วไป
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วินิจฉัย : (คำกริยา) ตัดสิน, ชี้ขาด, เช่น เรื่องนี้วินิจฉัยได้ ๒ ทาง; ไตร่ตรอง, ใคร่ครวญ, เช่น คณะกรรมการขอเลื่อนเวลาออกไปอีกเพื่อวินิจฉัยปัญหาให้รอบคอบยิ่งขึ้น. (ป.).”
ความหมายของ “วินิจฉัย” ในภาษาไทยที่ว่า “ตัดสิน” น่าจะถอดออกมาจาก “ฉิ” ธาตุ ที่หมายถึง “ตัด” นั่นเอง และ “สิน” ในภาษาไทยหมายถึง ตัด, ฟันให้ขาด “ตัดสิน” จึงเป็นคำซ้อน (ตัด คือ “สิน” และ สิน ก็คือ “ตัด”)
ในทางปฏิบัติ ความหมายของ “วินิจฉัย” ก็อยู่ในรากศัพท์นั่นเอง คือ “การตัดลงไปโดยวิเศษ” หมายถึง ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแน่นอนด้วยเหตุผลที่รอบคอบ ไม่มีสงสัยลังเลใจ พูดตามภาษาปากสมัยนี้ก็คล้ายกับสำนวนว่า “ฟันธง”
: เมื่อตาม อย่าขวางลำ
: เมื่อนำ อย่าลังเล
#บาลีวันละคำ (924)
28-11-57