บาลีวันละคำ

ถาน (บาลีวันละคำ 923)

ถาน

มาจากภาษาอะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ถาน : (คำนาม) ส้วมของพระ.”

พจน.ไม่ได้บอกว่า “ถาน” เป็นภาษาอะไร หรือมาจากภาษาอะไร

ในบาลีมีคำว่า “วจฺจฏฺฐาน” (วัด-จัด-ถา-นะ) ประกอบด้วย วจฺจ + ฐาน

วจฺจ” (วัด-จะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ห้ามความสุข” (เมื่อมีอาการอันเนื่องมาจากสิ่งนี้ ความสุขจะถูกห้ามไว้ คือจะรู้สึกไม่เป็นสุข)

วจฺจ หมายถึง อุจจาระ

วจฺจ” ในภาษาไทยใช้ว่า “เวจ” (เว็ด) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เวจ, เวจ– : (คำนาม) ที่ถ่ายอุจจาระ. (ป. วจฺจ).”

คนรุ่นเก่ายังพูดกันว่า “ไปเวจ” ในความหมายว่า ไปถ่ายอุจจาระ

ความจริง “วจฺจ” ในบาลีหมายถึงเฉพาะอุจจาระ ไม่ได้หมายถึงที่สำหรับถ่ายอุจจาระ

ถ้าจะให้หมายถึงที่สำหรับถ่ายอุจจาระ บาลีใช้คำว่า “วจฺจกุฏิ” (วัด-จะ-กุ-ติ) แปลว่า “กระท่อมเป็นที่ขับถ่ายอุจจาระ” และ “วจฺจฏฺฐาน

(๑) “วจฺจกุฏิ

ภาษาไทยใช้ว่า “วัจกุฎี” (วัด-จะ-กุ-ดี) พจน.54 บอกไว้ว่า –

วัจกุฎี : (คำนาม) ที่ถ่ายอุจจาระ, ส้วม, (ใช้แก่บรรพชิต), เวจกุฎี ก็เรียก. (ป. วจฺจกุฏิ).”

(๒) “วจฺจฏฺฐาน

วจฺจ (อุจจาระ) + ฐาน (สถานที่) = วจฺจฏฺฐาน (ซ้อน ฏ) แปลว่า สถานที่สำหรับถ่ายอุจจาระ

วจฺจฏฺฐาน” เขียนอย่างไทยเป็น “วัจฐาน” อ่านว่า วัด-จะ-ถาน แล้วกร่อนเหลือเพียง “ฐาน” และเขียนตามเสียงพูดเป็น “ถาน” ในที่สุด

คำว่า “ถาน” = ส้วมของพระ เป็นอีกคำหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก

พระที่บวชแล้วไม่ท่องบ่นบทสวดมนต์ให้จำได้ เวลาจะสวดมนต์ต้องเอาหนังสือไปแอบกางสวด คนเก่ามีคำตำหนิว่า –

ขี้เต็มถาน เจ็ดตำนานไม่จบ

: ชาวพุทธรุ่นเก่าสวดมนต์จากการท่องจำได้

: ชาวพุทธรุ่นใหม่ ส่วนมากกางหนังสือสวดมนต์

(แล้วยังทวงบุญคุณว่า กางหนังสือสวดก็ดีเท่าไรแล้ว-ดีกว่าไม่สวดเสียเลย)

#บาลีวันละคำ (923)

27-11-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *