บาลีวันละคำ

ปฏิจจสมุปบาท (บาลีวันละคำ 1,726)

ปฏิจจสมุปบาท

สูง แต่ไม่ยากเกินที่จะเข้าใจ

อ่านว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-หฺมุบ-บาด

ปฏิจจสมุปบาท” รากศัพท์มาจาก ปฏิจฺจ + สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน) + อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น) + ปทฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิต ที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สม), ทีฆะ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (ปทฺ > ปาท), ซ้อน ปฺ ระหว่าง อุ + ปทฺ (อุ + ปฺ + ปทฺ)

………….

อธิบายแทรก:

ปฏิจฺจ” (ปะ-ติด-จะ) เป็นคำกริยากิตก์ รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ตฺวา ปัจจัย, แปลง ตฺวา เป็น , ลง อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (อิ + + ), แปลง กับ เป็น จฺจ

: ปฏิ + อิ = ปฏิ + + ตฺวา > = ปฏิตฺย > ปฏิจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “กลับมา” หมายถึง อาศัย, เนื่องด้วย, เกี่ยวกับ, เพราะ (grounded on, on account of, concerning, because)

………….

: ปฏิจฺจ + สํ > สม = ปฏิจฺจสม + อุ = ปฏิจฺจสมุ + ปฺ + ปทฺ = ปฏิจฺจสมุปฺปทฺ + = ปฏิจฺจสมุปฺปทฺณ > ปฏิจฺจสมุปฺปท > ปฏิจฺจสมุปฺปาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นแดนอาศัยเกิดขึ้นพร้อมแห่งผล” (หมายถึงสิ่งที่เป็นเหตุ คืออาศัยกันและกันเกิดขึ้น)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปฏิจฺจสมุปฺปาท” ดังนี้ –

“arising on the grounds of (a preceding cause)” happening by way of cause, working of cause & effect, causal chain of causation; causal genesis, dependent origination, theory of the twelve causes.

(“เกิดขึ้นเนื่องจาก (เหตุที่มาก่อน)”, เกิดขึ้นด้วยเหตุ, การทำงานของเหตุและผล, ลูกโซ่แห่งเหตุผล; กำเนิดที่มีมาแต่เหตุ, การอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้น, ทฤษฎีแห่งเหตุ 12 อย่าง)

และอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า –

The general formula runs thus:

This being, that becomes; from the arising of this, that arises; this not becoming, that does not become; from the ceasing of this, that ceases

(สูตรทั่ว ๆ ไป มีดังนี้ :

เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งนั้นก็ย่อมเกิดมี; เพราะความเกิดขึ้นของสิ่งนี้ สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น; เมื่อไม่เป็นเช่นนี้ สิ่งนั้นย่อมไม่มี; เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับ)

ปฏิจฺจสมุปฺปาท” อ่านว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-มุบ-ปา-ทะ

เขียนในภาษาไทยเป็น “ปฏิจจสมุปบาท” อ่านว่า ปะ-ติด-จะ-สะ-หฺมุบ-บาด

คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความ ไว้ดังนี้ –

ปฏิจจสมุปบาท : “การที่ธรรมทั้งหลายอาศัยกันเกิดขึ้นพร้อม”, สภาพอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น, การที่ทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา มีองค์คือหัวข้อ 12 ดังนี้

1. อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา

เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย สังขารจึงมี

2. สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ

เพราะสังขาร เป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี

3. วิญฺญาณปจฺจยา นามรูปํ

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

4. นามรูปปจฺจยา สฬายตนํ

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี

5. สฬายตนปจฺจยา ผสฺโส

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี

6. ผสฺสปจฺจยา เวทนา

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

7. เวทนาปจฺจยา ตฺณหา

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี

8. ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี

9. อุปาทานปจฺจยา ภโว

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี

10. ภวปจฺจยา ชาติ

เพราะภพ เป็นปัจจัย ชาติจึงมี

11. ชาติปจฺจยา ชรามรณํ

เพราะชาติ เป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี

(12) โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา สมฺภวนฺติ

       โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงมีพร้อม

       เอวเมตสฺส เกวลสฺส ทุกฺขกฺขนฺธสฺส สมุทโย โหติ

       ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้จึงมีด้วยประการฉะนี้

ปฏิจจสมุปบาทที่ธรรมทั้งหลายเป็นปัจจัยแก่กันไปตามลำดับอย่างนี้ แสดงทุกขสมุทัย คือความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ จึงเรียกว่า สมุทัยวาร (พึงสังเกตว่า คำว่า สมุปบาท กับสมุทัย มีความหมายเหมือนกันว่า ความเกิดขึ้นพร้อม), เมื่อทุกข์เกิดขึ้นอย่างนี้ การที่จะดับทุกข์ ก็คือดับธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ดังนั้น ท่านจึงแสดงกระบวนธรรมแบบที่ตรงข้ามไว้ด้วย คือ ปฏิจจสมุปบาทที่ธรรมอันเป็นปัจจัยดับต่อๆ กันไป (เริ่มตั้งแต่ว่า “เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ, เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ฯลฯ”) เป็นการแสดงทุกขนิโรธคือความดับไปแห่งทุกข์ จึงเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาทแบบ นิโรธวาร

…………..

ปฏิจจสมุปบาทนี้บางทีเรียกกันว่า “อิทัปปัจจยตา” (ทิ-ทับ-ปัด-จะ-ยะ-ตา) สรุปใจความที่เป็นหลักว่า

“เพระสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

เพราะสิ่งไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี”

หรือ “กฎแห่งเหตุผล”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การพูดกันด้วยเหตุผล เป็นสิ่งที่ดี

: แต่การใช้เหตุผลกับคนไม่มีเหตุผล เป็นสิ่งที่เหนื่อยเปล่า

24-2-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย