บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

มองการสอบบาลี

มองการสอบบาลี

——————-

เห็นอนาคตริบหรี่ของพระพุทธศาสนา

และไม้พิสดารกิ่งก้านใหญ่กว่าต้น

………..

การสอบบาลีสนามหลวงของคณะสงฆ์ประจำปีนี้ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว

ช่วงแรก เปรียญธรรม ๖, ๗, ๘, ๙ สอบไปเมื่อต้นเดือน ๓ ปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๙ มกราคม ถึง ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ รวม ๕ วัน

ช่วงหลัง ประโยค ๑-๒ และเปรียญธรรม ๓, ๔, ๕ สอบปลายเดือน ๓ ปีนี้ก็คือเมื่อวันที่ ๒๑-๒๒-๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ รวม ๓ วัน

ต่อไปนี้ก็รอการตรวจใบตอบและประกาศผล

ควรทราบด้วยว่า สนามสอบบาลีสนามหลวงท่านแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือเปรียญธรรม ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ สอบในกรุงเทพฯ ประโยค ๑-๒ และเปรียญธรรม ๓, ๔ สอบในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

สมัยก่อนเดินทางลำบาก สนามในกรุงเทพฯ พระเณรที่ไปจากต่างจังหวัดต้องช่วยเหลือตัวเองทั้งที่พักและการขบฉัน เวลานี้ก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่

ส่วนสนามสอบในจังหวัดต่างๆ นั้น พระเณรที่มาจากต่างอำเภอต้องค้างที่วัดที่เป็นสนามสอบหรือวัดใกล้ๆ ที่คุ้นเคยกัน ญาติโยมจึงนิยมรับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระเณรที่เข้าสอบ กลายเป็นประเพณี ปีหนึ่งเลี้ยงพระสอบ ๒ ครั้ง สอบนักธรรมครั้งหนึ่ง สอบบาลีครั้งหนึ่ง เหมือนเทศกาลอะไรอย่างหนึ่ง ครึกครื้นดี เป็นประเพณีที่ควรรักษาสืบทอดกันต่อไป

ปีนี้ก็เช่นเคย ผมชวนญาติทำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสามเณรที่เข้าสอบที่วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นสนามสอบของจังหวัดราชบุรี

ย้ำว่า “ทำภัตตาหาร” คือจ่ายของสดมาต้มแกงเองตามรสนิยมแบบชาวบ้าน ไม่ใช่ไปซื้ออาหารสำเร็จแล้วจากร้านมาถวาย ของหวานก็เป็นขนมที่ทำเองเช่นกัน

เวลานี้วัฒนธรรมหุงข้าวต้มแกงกินเองกำลังจะหมดไปจากสังคมไทย

——————

มีข้อที่น่าใจหายอย่างหนึ่งคือ จำนวนพระเณรที่เข้าสอบลดลงไปทุกปี

จำได้ว่าสมัยผมเป็นเณรสอบ ป.ธ.๓ พระเณรเข้าสอบสนามจังหวัดราชบุรีประมาณ ๓๐๐ ขึ้น

ปีนี้สนามจังหวัดราชบุรีปีนี้มีพระเณรเข้าสอบบาลีไม่ถึง ๒๐๐ (ไม่รวมส่วนที่ไปสอบในกรุงเทพฯ)

พระเดชพระคุณพระธรรมปัญญาภรณ์ ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีปรารภถึงเรื่องนี้ด้วยความเป็นห่วง ท่านเปรยๆ ว่า ข้างบนเขาคิดจะทำอะไรกันมั่งหรือเปล่า

ท่านเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีบอกว่า เมื่อก่อนพระเณรจะเรียนมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ ต้องเป็นเปรียญ ๔ ประโยค ๕ ประโยคจึงจะมีสิทธิ์เข้าเรียนได้ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องได้สักประโยคก็เข้าเรียนได้ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระเณรเรียนบาลีกันน้อยลง – ท่านว่าอย่างนั้น

จะใช่อย่างที่ท่านว่าหรือเปล่า ลองคิดกันดูเอง

ในความเห็นของผม ผมว่าเหตุที่พระเณรเรียนบาลีน้อยลงก็เพราะมีทางเลือกให้ไปเรียนทางโลกได้สบายขึ้น คือบวชแล้วไปเรียนทางโลกได้สะดวก ดีกว่า สนุกกว่า และทันสมัยกว่าเรียนบาลี เรียนแล้วสามารถออกไปเทียบกับทางโลกได้ด้วย พระเณรจึงตั้งใจเรียนทางโลกมากกว่าเรียนบาลีตั้งแต่ก่อนบวชโน่นแล้ว

ส่วนเรียนนักธรรมบาลี เรียนแล้วเอาไปเทียบทางโลกแทบจะไม่ได้ พูดง่ายๆ เอาไปสมัครเข้างานอะไรก็ไม่มีใครรับ

เดี๋ยวนี้การเรียนบาลีจึงกลายเป็นตัวเลือกที่จะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ตามสมัครใจ

ใครจะมองอย่างไรไม่ทราบ แต่ผมเห็นว่านี่เป็นสัญญาณแห่งมหันตภัยของพระพุทธศาสนา

——————

โปรดทราบถึงหลักการก่อน

ในพระพุทธศาสนาท่านแบ่ง “พระศาสนา” ออกเป็น ๓ ส่วน คือ

๑ พระปริยัติศาสนา คือหลักคำสอนที่จะต้องศึกษาเรียนรู้

๒ พระปฏิปัติศาสนา คือการนำเอาหลักคำสอนไปลงมือปฏิบัติ

๓ พระปฏิเวธศาสนา คือผลที่เกิดจากการปฏิบัติ

งานหลัก หรือหน้าที่ หรือ “ธุระ” ที่ผู้ที่บวชเข้ามาในพระศาสนาจะต้องทำ ท่านก็กำหนดไว้ ๒ อย่าง คือ

๑ ศึกษาหลักคำสอนให้เข้าใจแตกฉานแล้วเผยแผ่ให้แพร่หลาย เรียกว่า “คันถธุระ”

๒ ลงมือปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้กิเลสเบาบางจนถึงหมดสิ้นไป เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ”

คันถธุระหรือพระปริยัติศาสนานั่นเองที่คณะสงฆ์ไทยหยิบยกขึ้นมาจัดการเรียนการสอนสำหรับพระเณร เรียกว่า เรียนพระปริยัติธรรม แบ่งเป็น ๒ แผนก คือ พระปริยัติธรรมแผนกธรรม และพระปริยัติธรรมแผนกบาลีที่เพิ่งสอบเสร็จไป 

การศึกษาพระปริยัติธรรมจึงเป็นการศึกษาตัวพระศาสนาโดยตรง เพื่อนำเอาพระศาสนาไปปฏิบัติให้เกิดผล และเพื่อเผยแผ่พระศาสนานั้นให้ดำรงอยู่และแพร่หลายสืบต่อไป

น่าเสียดายที่การศึกษาพระปริยัติธรรม-เมื่อตกมาถึงชั้นนี้-มีแต่ความทรุดโทรมเสื่อมถอย 

ถ้าเป็นอาการป่วยก็คือมีแต่ทรงกับทรุด

การบริหารจัดการก็กระทำกันอย่างแปลกประหลาดที่สุด กล่าวคือ การเรียนการสอนปล่อยให้วัดต่างๆ ดำเนินการกันเอง จะมีผู้เรียนหรือไม่มี จะมีผู้สอนหรือไม่มี วัดต่างๆ แก้ปัญหาเอาเอง 

มีผู้เรียนก็สอน ไม่มีผู้เรียนก็ไม่มีการสอน 

บางทีมีผู้เรียนมีผู้อยากเรียน แต่ไม่มีผู้สอน ก็ไม่มีการสอน 

ทั้งไม่มีการกำกับดูแลกวดขันใดๆ ทั้งสิ้น 

วัดไหนทำได้ก็ทำ วัดไหนทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ 

ผู้บริหารส่วนกลางจนถึงมหาเถรสมาคมไม่ได้เข้ามากำกับดูแลสอดส่องหรือช่วยเหลือเกื้อหนุนในทางใดๆ ทั้งสิ้น 

แม้หากจะมีบ้างก็ทำเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่ระเบียบปฏิบัติจากคณะสงฆ์ 

หน่วยงานที่คณะสงฆ์ตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบการศึกษาพระปริยัติธรรม มี ๒ หน่วย คือ กองธรรม และกองบาลี 

พระภิกษุที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ารับผิดชอบเรียกว่า “แม่กองธรรม” และ “แม่กองบาลี” มีหน้าที่เพียงแค่จัดการสอบประจำปีเท่านั้น 

ไม่มีและไม่ได้ทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องการเรียนการสอนแต่ประการใดทั้งสิ้น 

การเรียนการสอนทำกันอย่างไร ก็ย้อนไปอ่านข้างต้น

ผมจึงว่าเป็นการบริหารจัดการที่แปลกประหลาดที่สุด

ถ้าการศึกษาตัวพระศาสนาโดยตรงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ อนาคตของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยจะเป็นอย่างไร

แต่ที่แปลกประหลาดสุดยอดก็คือ คณะสงฆ์ไทยมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่โตมโหฬาร มีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งเทียบได้กับมหาวิทยาลัยทางโลก มีงบประมาณสนับสนุนจำนวนมหึมา แต่มีระบบการเรียนการสอนที่เอียงตามโลกไปทุกที คือมุ่งให้ได้ปริญญาเพื่อเอาไปเทียบกับทางโลก มิใช่มุ่งจะผลิตศาสนทายาทเพื่อรักษาพระศาสนาเป็นหลัก (แต่ก็มีคำอธิบายเป็นตรรกะว่า ผู้จบไปจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่ว่าเขาจะไปที่ไหน ในที่สุดเขาก็จะกลับมาเป็นกำลังของพระพุทธศาสนาอยู่นั่นเอง)

ถ้าอุปมาเป็นต้นไม้ 

การศึกษาพระปริยัติธรรมอันเป็นตัวพระศาสนาโดยตรงก็เปรียบเหมือนลำต้น 

การศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์เปรียบเหมือนกิ่งก้าน

แต่ไม้ต้นนี้เป็นไม้ประหลาด คือกิ่งก้านใหญ่กว่าลำต้นหลายเท่า

——————

อันที่จริง การศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีนั้น สามารถขยายตัวไปถึงระดับมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้สบายๆ 

ถ้า-บริหารจัดการเป็น

ยกตัวอย่าง 

พระปริยัติธรรมแผนกธรรม:

วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม สามารถบริหารให้เป็น “คณะเผยแผ่พุทธศาสตร์” ได้เต็มตัว

วิชาพุทธประวัติ สามารถบริหารให้เป็น “คณะพุทธประวัติศาสตร์” ได้เต็มตัว

วิชาธรรมวิภาค สามารถบริหารให้เป็น “คณะพุทธธรรมศาสตร์” ได้เต็มตัว

วิชาวินัยบัญญัติ สามารถบริหารให้เป็น “คณะนิติพุทธศาสตร์” ได้เต็มตัว

พระปริยัติธรรมแผนกบาลี:

ใช้พระบาลีพระไตรปิฎกเป็นโครงของหลักสูตร โดยจำแนกเป็น –

คณะวินัยปิฎกศึกษา (แยกเป็นภาควิชาอาทิกรรมวิทยา ฯลฯ ปริวารวิทยา)

คณะสุตตันตปิฎกศึกษา (แยกเป็นภาควิชาทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย ฯลฯ ผู้เรียนจบภาควิชาใด จะเป็นผู้เชียวชาญในนิกายนั้นเหมือนในสมัยพุทธกาล)

คณะอภิธรรมปิฎกศึกษา (แยกเป็นภาควิชาธรรมสังคณีวิทยา ฯลฯ ตามคัมภีร์ทั้ง ๗ ผู้เรียนจบภาควิชาใด จะเป็นผู้เชียวชาญในคัมภีร์นั้น)

ทุกคณะต้องเรียนภาษาบาลีเป็นพื้นฐานจนถึงขั้นสามารถใช้งานเขียน อ่าน แปล และสนทนาได้

ขอประทานโทษนะครับ ทั้งหมดนี่ผมคิดขึ้นมาเดี๋ยวนี้เอง ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า ถ้าจะทำจริงต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้และอาจไม่เหมือนแบบนี้เลยก็เป็นได้

ทั้งหมดนี้พร้อมทุกอย่าง ทั้งคน ทั้งเงิน ทั้งวิธีที่จะทำ

ขาดอยู่อย่างเดียว คือผู้บริหารกิจการพระศาสนาไม่มีความคิดที่จะทำ

——————

ปีหน้า การสอบพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีก็ยังจะมีอีก 

ผมก็จะชักชวนญาติๆ ให้ทำภัตตาหารมาเลี้ยงพระเณรที่เข้าสอบอีกเช่นเคย ด้วยศรัทธาเลื่อมใสที่ไม่เสื่อมคลาย

และหวังว่า คงจะมีสักเวลาหนึ่งที่เทวดาที่รักษาพระศาสนาจะดลใจผู้บริหารการพระศาสนาในเมืองไทยให้มีความคิดที่จะทำอะไรบ้างเพื่อรักษาพระศาสนาที่บริสุทธิ์ไว้ให้เป็นมรกดแก่อนุชนสืบไปชั่วกาลนาน

แม้ว่าความหวังนั้นจะริบหรี่ลงไปทุกปีก็ตาม

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

๑๕:๔๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *