เกษม (บาลีวันละคำ 976)
เกษม
อ่านว่า กะ-เสม (เส- ม สะกด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เกษม : (คำนาม) ความสุขสบาย, ความปลอดภัย, มักใช้เข้าคู่กับคําอื่น เช่น สุขเกษม เกษมศานต์. (โบ เขียนเป็น กระเษม, เขษม ก็มี). (ส.; ป. เขม).”
“(ส.; ป. เขม)” หมายความว่า “เกษม” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “เขม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า (สะกดตามต้นฉบับ) –
“เกฺษม : (คำคุณศัพท์) เปนสุข, มีความสุข, สบาย; prosperous, happy, well;- (คำนาม) ความสุข, ความสบาย; นิรันตรสุข; การรักษาไว้; happiness, well-being; eternal happiness; preserving.”
“เขม” (เข-มะ) ในบาลี รากศัพท์มาจาก ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + ม ปัจจัย, แผลง อี (ที่ ขี) เป็น เอ
: ขี > เข + ม = เขม แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “สภาวะที่ไม่มีภัย” = เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้วก็จะปลอดจากภัยทั้งปวง ไม่ต้องหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อสิ่งใดๆ เพราะภัยไม่มี
(2) “สภาวะเป็นเหตุสิ้นไปแห่งไฟราคะเป็นต้น” = เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้ว ไฟคือราคะ โทสะ โมหะ ก็เป็นอันว่าสิ้นไป
(3) “เป็นที่สิ้นไปแห่งความไม่งาม” = เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้วจะมีแต่ความดี ความงาม ความถูกต้อง
(4) “สภาวะที่ทำให้ความไม่สบายสิ้นไป” = เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้วจะไม่มีความทุกข์ (นอกจากทุกข์ตามสภาวะ เช่นความหิว ความเจ็บป่วย ความแก่)
(5) “เป็นที่สิ้นไปแห่งอุปัทวะและอุปสรรค” = เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้วจะมีแต่ความโปร่งโล่ง ปลอดจากข้อขุ่นเคืองขัดข้องด้วยประการทั้งปวง
สรุปความหมายของ “เขม – เกษม” คือ ดี, งาม, เจริญ, ปลอดโปร่ง, สบาย, ปลอดภัย
ในทางธรรม “เขม” ท่านหมายถึงแดนเกษม คือพระนิพพาน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เขม” เป็นภาษาอังกฤษว่า –
(1) (คำคุณศัพท์) full of peace, safe; tranquil, calm (เกษม, ปลอดภัย, ราบรื่น, สงบ)
(2) (คำนาม) shelter, place of security, tranquillity, home of peace, the Serene (สถานที่พักพิง, สถานที่อันปลอดภัย, ความราบรื่น, ที่สงบ, ที่เยือกเย็น)
โปรดสังเกต :
(๑) “เกฺษม” ในสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน กับ “เขม” ในพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ คำแปลภาษาอังกฤษไม่ตรงกันเลยแม้แต่คำเดียว
(๒) ความประพฤติของผู้มีชื่อว่า “เกษม” จึงอาจจะไม่ตรงกับความหมายของคำว่า “เขม – เกษม” เลยแม้แต่อย่างเดียวก็ได้
: ไม่มีที่ไหนปลอดภัย ถ้าหัวใจยังไม่ปลอดจากกิเลส
#บาลีวันละคำ (976)
19-1-58