กรุณา (บาลีวันละคำ 982)
กรุณา
หนึ่งในพรหมวิหารธรรม
อ่านว่า กะ-รุ-นา
“กรุณา” รากศัพท์มาจาก –
(1) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + อุณ ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กรฺ + อุณ = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่สร้างความสะเทือนใจแก่คนดีเมื่อผู้อื่นมีทุกข์”
(2) ก บทหน้า + รุธิ (ธาตุ = ปิด, กั้น) + อ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ ธิ) เป็น อ, ธ เป็น ณ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ก + รุธิ > รุธ > รุณ + อ = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่กั้นความสุขไว้” (คือห้ามความสุขตัวเองเพื่อช่วยคนอื่น)
(3) กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ยุ ปัจจัย, แปลง อ (ที่ –รฺ) เป็น อุ, ยุ เป็น อน, น เป็น ณ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กรฺ > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องทำตนให้เป็นที่พึ่งอาศัยของคนอื่น”
(4) กิรฺ (ธาตุ = กำจัด, ปัดเป่า) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ กิ-) เป็น อ, อ เป็น อุ, ยุ เป็น อน, น เป็น ณ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กิรฺ > กร > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่กำจัด” (คือกำจัดทุกข์ของผู้อื่น)
(5) กิ (ธาตุ = เบียดเบียน) + รุณ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ กิ) เป็น อ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กิ > ก + รุณ = กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่เบียดเบียน” (คือเบียดเบียนความเห็นแก่ตัวออกไป)
(6) กิรฺ (ธาตุ = กระจาย) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ กิ-) เป็น อ, อ เป็น อุ, ยุ เป็น อน, น เป็น ณ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กิรฺ > กร > กรุ + ยุ > อน = กรุน > กรุณ + อา = กรุณา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่กระจาย” (คือแบ่งปันความสุขแก่ผู้อื่น)
“กรุณา” หมายถึง ความกรุณา, ความสงสาร (pity, compassion)
“กรุณา” เป็นธรรมข้อที่ 2 ในพรหมวิหาร 4
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“กรุณา : ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์, ความหวั่นใจ เมื่อเห็นผู้อื่นมีทุกข์ คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของเขา.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กรุณา” ไว้ว่า –
(1) ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ เป็น ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา.
(2) ใช้ประกอบหน้ากริยาแสดงความขอร้องอย่างสุภาพ เช่น กรุณาส่ง.
(3) ใช้ร่วมกับคำ พระ เป็นสรรพนามสําหรับพระเจ้าแผ่นดิน เช่น กราบบังคมทูลพระกรุณา.
ข้อควรเข้าใจ :
(๑) “กรุณา” เป็นคุณธรรมที่สำเร็จได้ด้วยใจเช่นเดียวกับพรหมวิหารธรรมข้ออื่น
การจะตัดสินว่ามีกรุณาหรือไม่ ต้องพิสูจน์ด้วยใจมีความปรารถนาจะช่วยเปลื้องทุกข์ ไม่ตัดสินกันที่การลงมือทำ
ถ้าใจมีกรุณาที่แท้จริงด้วย และลงมือทำด้วย ก็นับว่าเป็นความดีสองชั้น คือชั้นมีกรุณา และชั้นลงมือทำ
การลงมือทำ (เช่นลงมือช่วยเหลือ) ไม่เป็นเครื่องรับรองที่แท้จริงว่ามีกรุณา อาจทำเพื่อหวังผลตอบแทน หรือทำไปตามหน้าที่ก็ได้
(๒) ความแตกต่างระหว่าง “เมตตา” กับ “กรุณา” ก็คือ :
เมตตา : หิตสุขูปนยกามตา = ความปรารถนาที่จะนำสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลและความสุขเข้าไปให้ (the desire of bringing (to one’s fellowmen) that which is welfare and good)
กรุณา : อหิตทุกฺขาปนยกามตา = ความปรารถนาที่จะกำจัดสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลและความทุกข์ยากจากเพื่อนมนุษย์ (the desire of removing bane and sorrow from one’s fellowmen)
ตรงกับคำที่เราคุ้นกัน นั่นคือ “บำบัดทุกข์ – บำรุงสุข”
กรุณา = บำบัดทุกข์
เมตตา = บำรุงสุข
ดูเพิ่มเติม :
“พรหมวิหาร” บาลีวันละคำ (980) 23-1-58
“เมตตา” บาลีวันละคำ (981) 24-1-58
กรุณาสโห = ทนไม่ได้เพราะกรุณา :
เห็นครอบครัวเดือดร้อนแล้วทนไม่ได้ : เป็นสุภาพบุรุษ
เห็นประชาชนเดือดร้อนแล้วทนไม่ได้ : เป็นรัฐบุรุษ
เห็นมนุษยชาติเดือดร้อนแล้วทนไม่ได้ : เป็นมหาบุรุษ
—————–
(สืบเนื่องมาจากคำขอของ Jasmiine Montra)
#บาลีวันละคำ (982)
25-1-58