มุทิตา (บาลีวันละคำ 983)
มุทิตา
หนึ่งในพรหมวิหารธรรม
อ่านว่า มุ-ทิ-ตา
“มุทิตา” บาลีเขียน “มุทิตา” (มุ-ทิ-ตา) เหมือนกัน มีความหมาย 2 นัย คือ –
(1) มาจาก มุทฺ (มุ-ทะ, ธาตุ = ยินดี, เบิกบาน) + อิ + ต ปัจจัย = มุทิต > มุทิตา หมายถึง ชื่นชม, ยินดี, พอใจ (pleased, glad, satisfied)
มุทิตา ถ้าเป็นคุณศัพท์ มีความหมายว่า มีใจชื่นชม, มีใจปราโมทย์, ดีใจ (with gladdened heart, pleased in mind)
(2) มาจาก มุทุ (อ่อนโยน) + ตา ปัจจัย = มุทุตา > มุทิตา หมายถึง ความมีใจอ่อน, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ (soft-heartedness, kindliness, sympathy)
ความหมายตามนัยนี้ ในทางปฏิบัติก็คือ ใครจะสุขหรือจะทุกข์ ก็รู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ถ้าสุขก็พลอยยินดี ถ้าทุกข์ก็พลอยเดือดร้อนใจไปด้วย
คำว่า “มุทิตา” รากศัพท์มาทางเดียวกับคำว่า “อนุโมทนา”
“มุทิตา” เป็นธรรมข้อที่ 3 ในพรหมวิหาร 4
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มุทิตา” ว่า soft-heartedness, kindliness, sympathy (ความมีใจอ่อน, ความกรุณา, ความเห็นอกเห็นใจ)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“มุทิตา : ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี, เห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุข ก็แช่มชื่นเบิกบานใจด้วย เห็นเขาประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ก็พลอยยินดีบันเทิงใจ พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน ไม่กีดกันริษยา; ธรรมตรงข้ามคือ อิสสา (ข้อ ๓ ในพรหมวิหาร ๔)”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มุทิตา : (คำนาม) ความมีจิตพลอยยินดีในลาภยศสรรเสริญสุขของผู้อื่น เป็นข้อ ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา. (ป.).”
ฝรั่งผู้จัดทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความเห็นไว้ในคำว่า “มุทิตา” ว่า เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นการแสดงออกซึ่ง “ความรัก” 3 ลักษณะ คือ :
เมตตา = active love (ความรักอันแสดงออก, ความรักแบบกระตือรือร้น)
กรุณา = preventive love (ความรักปกป้อง)
มุทิตา = disinterested love (ความรักแบบไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย)
ดูเพิ่มเติม :
“พรหมวิหาร” บาลีวันละคำ (980) 23-1-58
“เมตตา” บาลีวันละคำ (981) 24-1-58
“กรุณา” บาลีวันละคำ (982)25-1-58
ข้อควรเข้าใจ :
มุทิตาเป็นธรรมะที่ต้องปฏิบัติทางใจ หรือเป็นงานของจิต คือเกิดที่ใจและออกมาจากใจ ชี้วัดหรือตัดสินไม่ได้ด้วยคำพูดหรือกิริยาอาการที่แสดงออก
ปากบอกว่า “ขอแสดงความยินดีด้วย” มีช่อดอกไม้หรือกระเช้าของขวัญไปมอบให้ หรือมีเครื่องสักการะไปถวาย ยังไม่ใช่เครื่องพิสูจน์ว่านั่นคือมีมุทิตา
มุทิตาวัดกันที่ความรู้สึกจริงแท้ในหัวใจ ถ้าใจรู้สึกยินดีด้วยอย่างแท้จริง แม้ไม่ได้พูดอะไรเลย หรือไม่ได้มอบอะไรให้เลย ก็เป็น “มุทิตา” แล้วอย่างสมบูรณ์
ถ้ามีโอกาสเอ่ยวาจาหรือมีสิ่งของเครื่องแสดงออกมอบให้ ก็นับว่าเป็นอลังการอีกส่วนหนึ่งของมุทิตา
เอ่ยวาจาหรือมีสิ่งของเครื่องแสดงออกมอบให้ แต่ใจมิได้มีมุทิตาอย่างแท้จริง ก็คือการหลอกลวงหรือมารยาที่น่ารังเกียจ
ใจก็มีมุทิตา กิริยาวาจาก็แสดงออก นับว่าเป็นมุทิตาที่ครบถ้วนทั้งไตรทวาร
: ริษยาเขา เราก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา
: แต่ถ้ามุทิตา เราได้กำไร
—————–
(สืบเนื่องมาจากคำขอของ Jasmiine Montra)
#บาลีวันละคำ (983)
26-1-58