หัตถกรรม [1] (บาลีวันละคำ 1,830)
หัตถกรรม [1]
ความหมายที่เลือนหายไป
อ่านว่า หัด-ถะ-กำ
แยกศัพท์เป็น หัตถ + กรรม
(๑) “หัตถ”
บาลีเป็น “หตฺถ” (หัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หสฺ > หตฺ)
: หสฺ + ถ = หสฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเล่นสนุก” (เช่นใช้ปรบ ฟ้อนรำ) = มือ “อวัยวะเป็นที่เล่นสนุก” = ศอก
(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หนฺ > หตฺ)
: หนฺ + ถ = หนฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องเบียดเบียนอวัยวะอื่น” (เช่นเกา ตบตี) = มือ (2) “เป็นที่ไปถึงแห่งอวัยวะทั้งหลาย” (หมายถึงมือเอื้อมถึง) = มวยผม
(3) หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หรฺ > หตฺ)
: หรฺ + ถ = หรฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำของไป” = มือ
(4) หตฺถ (มือ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: หตฺถ + ณ = หตฺถณ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่เหมือนมือเพราะทำหน้าที่มือให้สำเร็จประโยชน์ได้” = งวงช้าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถ” ดังนี้ –
(1) hand (มือ)
(2) (the hand as measure, a cubit (มือในฐานเป็นเครื่องวัด, ระยะหนึ่งศอก)
(3) a handful, a tuft of hair (เต็มมือ, ปอยผม)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัตถ-, หัตถ์ : (คำนาม) มือ; ศอกหนึ่ง; งวงช้าง. (ป.; ส. หสฺต).”
(๒) “กรรม”
บาลีเขียน “กมฺม” (กำ-มะ) สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
“กรรม” ในแง่ภาษา –
1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)
2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม
3- กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ” (the doing, deed, work)
“กรรม” ในแง่ความหมาย –
1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
“กรรม” ในแง่ความเข้าใจ –
1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น”
2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)
3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น
หตฺถ + กมฺม = หตฺถกมฺม (หัด-ถะ-กำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “ทำด้วยมือ”
“หตฺถกมฺม” ในภาษาไทยใช้ว่า “หัตถกรรม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัตถกรรม : (คำนาม) งานช่างที่ทำด้วยมือ โดยถือประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก. (ป. หตฺถ + ส. กรฺมนฺ; ป. หตฺถกมฺม).”
…………..
อภิปราย :
“หตฺถกมฺม” เป็นศัพท์ที่มีใช้ทั่วไปในคัมภีร์ นักบาลีไทยมักแปลทับศัพท์ว่า “หัตถกรรม” ซึ่งเท่ากับไม่ได้แปล เพราะก็ยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถกมฺม” ว่า manual work, craft, workmanship, labour (งานที่ทำด้วยมือ, อาชีพที่ต้องใช้มือ, ฝีมือ, งานหนัก)
คำว่า labour เรามักเข้าใจว่าหมายถึง แรงงาน, กรรมกร แต่คำนี้มีความหมายอย่างอื่นอีก เช่น ความพยายาม, อุตสาหะ, พากเพียร; ฝ่าไปด้วยความลำบาก หรือแล่น บุกไปด้วยความลำบาก
ในภาษาไทย พจนานุกรมฯ จำกัดความหมายของ “หัตถกรรม” แคบลงไป คือบอกว่า “งานช่างที่ทำด้วยมือ โดยถือประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก” ฟังดูก็หมายถึงงานที่ใช้มือทำ (ไม่ได้ผลิตด้วยเครื่องจักร) และเล็งถึงชิ้นงานที่ทำเสร็จแล้ว
ในภาษาบาลี “หตฺถกมฺม” หมายถึง แรงงานที่ใช้ไปในการทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยผู้ทำอาจได้รับค่าจ้าง (ค่าแรง) หรืออาจทำให้โดยสมัครใจก็ได้
กรณีทำให้โดยสมัครใจ ตรงกับคำในภาษาไทยที่พูดว่า “ขอแรง” เช่น ขอแรงช่วยยกโต๊ะ ขอแรงช่วยค้นเรื่องนั้นเรื่องนี้
ความหมายของ “หตฺถกมฺม – หัตถกรรม” ในบาลีที่ตรงกับวัฒนธรรมไทยก็คือการ “ลงแขก”
พจนานุกรมฯ บอกความหมายของ “ลงแขก” ไว้ว่า –
“ลงแขก : (คำกริยา) ร่วมแรงเพื่อนบ้านมาช่วยกันทำงานเช่นดำนา เกี่ยวข้าว ให้ลุล่วงเร็วขึ้นโดยไม่รับค่าจ้าง และผลัดเปลี่ยนช่วยกันไปตามความจำเป็นของแต่ละบ้าน.”
“หตฺถกมฺม – หัตถกรรม” ในความหมายนี้ก็คือการให้ความร่วมมือ ร่วมช่วยเหลือกันและกัน หรือความมีน้ำใจต่อกันนั่นเอง
น่าเสียดายที่คำว่า “ลงแขก” ถูกแปรความหมายไปเป็น “รุมกันข่มขืนกระทําชําเราหญิง”
นอกจากความหมายจะแปรไปในทางเสื่อมทรามแล้ว ความมีน้ำใจในสังคมไทยก็เหือดหายไปแทบหมดสิ้น
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ามองหาหาคนมีน้ำใจไม่เห็น
: ก็จงเป็นมันเสียเอง!
12-6-60