บาลีวันละคำ

จุติมา (บาลีวันละคำ 1,836)

จุติมา

มาจากไหน?

จุติมา” อ่านว่าจุ-ติ-มา ตามรูปศัพท์ที่ตาเห็น ประกอบด้วย จุติ + มา

(๑) “จุติ” (จุ-ติ) รากศัพท์มาจาก จุ (ธาตุ = เคลื่อน, ตาย, แตกดับ) + ติ ปัจจัย

: จุ + ติ = จุติ แปลตามศัพท์ว่า “การเคลื่อน” หมายถึง การตาย, การเคลื่อนจากภพหนึ่งไปยังอีกภพหนึ่ง (vanishing, passing away, passing from one existence to another)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จุติ : (คำกริยา) เคลื่อน, เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง, (มักใช้แก่เทวดา). (ป.; ส. จฺยุติ).”

ในภาษาไทย “จุติ” มักใช้แก่เทวดา เช่นพูดว่า “เทวดาจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์” ไม่นิยมพูดว่า “มนุษย์จุติไปเกิดเป็นเทวดา” แต่ในภาษาบาลีใช้ได้ทุกภพภูมิ

(๒) จุติ + มา รูปคำเดิมมาจาก จุติ + มนฺตุ ปัจจัย (ปัจจัยตัวนี้แทนศัพท์ว่า “อตฺถิ” แปลว่า “มีอยู่”) = จุติมนฺตุ + สิ ปฐมาวิภัตติ (วิภัตตินามที่หนึ่ง) เอกพจน์, แปลง (ม)-นฺตุ กับ สิ เป็น อา (มนฺตุ + สิ > มา)

: จุติ + มนฺตุ = จุติมนฺตุ + สิ = จุติมนฺตุสิ > จุติมา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีการจุติ

ที่ว่ามานี้เป็นการแสดงรากศัพท์ตามรูปคำที่ปรากฏ คือ “จุติมา

แต่ในภาษาบาลีไม่มีคำที่ใช้ในความหมายเช่นนี้ (คือความหมายว่า “ผู้มีการจุติ”) ในคัมภีร์ก็ยังไม่พบคำที่ใช้ในความหมายเช่นนี้

ถ้าเช่นนั้น คำว่า “จุติมา” มาจากไหน?

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอสันนิษฐานว่า “จุติมา” เป็นคำที่เคลื่อนที่โดยการออกเสียงเพี้ยนมาจาก “ชุติมา

ชุติมา” (ชุ-ติ-มา) ประกอบด้วย ชุติ + มนฺตุ + สิ (หลักการเดียวกับ “จุติมา” ที่แสดงแล้วข้างต้น)

ชุติ” รากศัพท์มาจาก ชุตฺ (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + อิ ปัจจัย

: ชุตฺ + อิ = ชุติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สว่าง” “สิ่งที่รุ่งเรือง” “ภาวะที่สว่าง” หมายถึง ความช่วงโชติ, ความสวยสดงดงาม, ความรุ่งเรือง, แสงสว่าง (splendour, brightness, effulgence, light)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชุติมา : (คำนาม) ผู้มีความรุ่งเรือง. (ป.; ส. ชฺยุติมตฺ).”

…………..

ขยายความ :

ชุติมา” นั่นเอง สำเนียงท้องถิ่นบางแห่งในประเทศไทยออกเสียงเพี้ยนเป็น “จุติมา

ช้าง หรือ ฉิ่ง ออกเสียงเพี้ยนเป็น จาน อาจพบได้ทั่วไป เช่น –

จ้าง = ช้าง (สำเนียงภาคเหนือ)

โจตะก๋า = โชตกา (สำเนียงภาคเหนือ)

จะลอง = ฉลอง (สำเนียงภาคใต้)

(โปรดช่วยบูรณาการด้วยการเพิ่มเติมคำอื่นๆ อีก)

คำว่า “จะลอง” เป็นชื่อคน เรื่องมีมาว่า พ่อซึ่งเป็นคนใต้ไปแจ้งฝ่ายทะเบียนราษฎร์ที่อำเภอว่าลูกชายเกิด เจ้าหน้าที่ถามว่าตั้งชื่อลูกว่าอะไร พ่อตอบว่าชื่อ “ฉลอง” เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคนภาคกลางยังไม่คุ้นสำเนียงใต้ ได้ยินเป็น “จะลอง” จึงเขียนลงไปว่า เด็กชายจะลอง

โดยกฎธรรมชาติเดียวกันนี้ “ชุติมา” จึงกลายเป็น “จุติมา” ข้อพิสูจน์ยืนยันคือ “จุติมา” ความหมายตามศัพท์คือ “ผู้มีความตาย” ย่อมไม่ใช่ความหมายที่ควรจะเป็นชื่อคน เว้นไว้แต่จะตีความให้เป็นปรมัตถ์ ซึ่งน่าจะไม่ใช่ความคิดธรรมดาของคนทั่วไป

คำที่มีความหมายดีอาจกลายเป็นคำที่มีความเสียเพราะความไม่เข้าใจ

…………..

หมายเหตุ : คำว่า “จุติมา” ในที่นี้มีเจตนาจะกล่าวถึงคำทั่วไปที่เสียงกลายไปตามธรรมชาติของการออกเสียงของผู้คนในภูมิภาคนั้นๆ เท่านั้น มิได้ตั้งใจจะให้เป็นการวิจารณ์หรือตีความชื่อของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

สำหรับชื่อเฉพาะ จะมีความหมายอย่างไร ย่อมเป็นไปตามเจตนาของผู้ตั้ง ซึ่งผู้อื่นควรเคารพและเข้าใจตามเจตนานั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ขาดความรู้ เสียคำ

: ขาดความยุติธรรม เสียคน

19-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย