บาลีวันละคำ

พระคาถาบูชา ร.๙ (บาลีวันละคำ 1,835)

พระคาถาบูชา ร.๙

มีผู้ส่งข้อความที่บอกว่าเป็น “พระคาถาบูชา ร.๙” มาให้ผู้เขียนบาลีวันละคำดู และถามว่าแปลว่าอะไร

“พระคาถาบูชา ร.๙” ตามภาพที่ส่งมา มีข้อความดังนี้ –

………………

ตั้งนะโม3 จบ

อิติสุขะโต นะโม พุทธายะ

ปัตทวีคงคา นวมินทร์

พระมหาราชา นะมามิหัง

………………

ข้อความข้างต้นมีคำผิดหลายแห่ง เมื่อแก้ให้ถูกต้องตามหลักภาษาบาลีแล้ว เป็นดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

อิติ สุคโต นโม พุทฺธาย

ปฐวีคงฺคา นวมินฺทมหาราชา นมามิหํ.

เขียนแบบคำอ่าน :

อิติ สุคะโต นะโม พุทธายะ

ปะฐะวีคังคา นะวะมินทะมะหาราชา นะมามิหัง.

แปลเป็นคำๆ :

อิติ = ดังนี้, ว่าดังนี้, ด้วยประการฉะนี้ ฯลฯ

สุคโต = ผู้ดำเนินไปดีแล้ว, ผู้กล่าวดีแล้ว

นโม = ความนอบน้อม

พุทฺธาย = แก่พระพุทธเจ้า

(นโม พุทฺธาย = ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า)

ปฐวี = แผ่นดิน

คงฺคา = แม่น้ำ, แม่น้ำชื่อคงคา

นวมินฺท (นวม + อินฺท) = ผู้ยิ่งใหญ่ลำดับที่เก้า

มหาราชา = พระมหาราชา, มหาราช

(นวมินฺทมหาราชา = พระมหาราชาผู้ยิ่งใหญ่พระองค์ที่เก้า)

นมามิหํ (นมามิ + อหํ) = ข้าพเจ้าขอน้อมไหว้

…………..

อภิปราย :

๑. ภาษาบาลีที่เรียกว่า “พระคาถาบูชา ร.๙” นี้น่าจะเรียกว่า “ภาษาปาก” คือพูดเป็นคำบาลีตามที่ต้องการจะพูด และโดยไม่ได้คำนึงว่าจะผิดถูกไวยากรณ์อย่างไรหรือไม่ ทั้งเป็นการเอาคำบาลีตามที่ต้องการจะพูดหรือตามที่นึกได้มาประสมกันเข้าโดยไม่เข้าใจว่าจะมีความหมายอย่างไร

กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มีเจตนาที่ดีที่จะพูด แต่พูดออกมาแล้วไม่เป็นภาษา หมายความว่าแปลให้มีความหมายเป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้

๒. บางคำก็เป็นการพูดแบบคำไทย เช่น

– “คงคา” ถ้าเป็นบาลีต้องออกเสียงว่า คัง-คา

– “นวมินทร์” เขียนเป็นคำไทย

– “พระมหาราชา” ก็เขียนเป็นคำไทย

๓. ตั้งเจตนาจะกล่าวคำบูชาพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 9 แต่มีคำที่ไม่เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 9 อยู่ด้วยหลายคำ ทั้งเมื่อแปลแล้วก็ไม่เป็นเรื่องเดียวกัน คือไม่อาจจะโยงความหมายเข้าด้วยกันได้ คือ –

อิติ – ไปทางหนึ่ง

สุคโต – ก็ไปอีกทางหนึ่ง (โดยปกติ “สุคโต” เป็นพระคุณนามของพระพุทธเจ้า)

อิติ สุคโต – เป็นคำที่ใช้ทางคาถาอาคม ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 9

นโม พุทฺธาย – เป็นคำที่รู้จักกันแพร่หลาย ในทางคาถาอาคมถือกันว่าเป็นพระคาถาศักดิ์สิทธิ์ เรียกกันว่า “พระเจ้าห้าพระองค์” ความหมายก็มีเพียงว่า “ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า” ซึ่งก็เป็นความหมายเดียวกับบท นโม นั่นเอง ก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 9 อีกเหมือนกัน

ปฐวีคงฺคา – นี่ก็ยิ่งเข้าใจไม่ได้ว่ามาเกี่ยวอะไรกับพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 9 เว้นแต่จะลากถูลู่ถูกังไปว่า พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในเรื่องบริหารจัดการดินและน้ำ-อย่างนี้ก็คือใช้ถ้อยคำขึ้นมาลอยๆ แล้วให้คนจินตนาการเอาเอง ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะมีใครจินตนาการถูกกับเจตนาหรือไม่

คงมีแต่คำว่า “นวมินฺทมหาราชา นมามิหํ” นี่เท่านั้นที่ถ้อยคำตรงกับเจตนา คือมีความหมายว่า “ข้าพเจ้าขอน้อมบูชาพระมหาราชาผู้ยิ่งใหญ่พระองค์ที่เก้า

๔. การสะกดคำตามต้นฉบับ มีคลาดเคลื่อนบางคำ คือ

สุขะโต

บาลีคำนี้เป็น –– ( ควาย) ไม่ใช่ –– (ข ไข่) คือสะกดว่า “สุคโต” (สุคะโต)

ถ้าจะหมายถึง “ผู้มีความสุข” ก็ต้องเป็น “สุขิโต” ไม่ใช่ “สุขโต

อิติสุขะโต (คำสะกดถูก : อิติสุคโต)

ควรเขียนแยกกัน คือเป็น อิติ คำหนึ่ง สุคโต อีกคำหนึ่ง (อิติ สุคโต) แต่เนื่องจากศัพท์นี้ ทางไวยากรณ์อาจอธิบายให้เป็นคำเดียวกันได้ จึงควรยกประโยชน์ให้ผู้คิดคำต้นฉบับ

ปัตทวีคงคา

นี่เป็นการเขียนตามเสียงพูดโดยแท้ เขียนอย่างนี้ “ปัตทวี” ออกเสียงอ่านว่า ปัด-ทะ-วี ซึ่งใกล้กับเสียงคำว่า ปัถวี = ปฐวี เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนไม่มีความรู้ภาษาบาลี หรือไม่ได้นึกถึงคำบาลีว่าสะกดอย่างไร เอาเสียงที่ได้ยินเป็นประมาณ กลายเป็นคำตลกไป

นวมินทร์

พระมหาราชา

นี่เขียนเป็นคำไทย และต้องอ่านเป็นคำไทย แสดงว่าผู้เขียนไม่รู้ว่าคำบาลีสะกดอย่างไร แต่ก็เข้าลักษณะคาถาอาคมทั้งหลาย คือมีคำบาลีประสมคำไทยไปด้วย

…………..

ความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ :

เมื่อตั้งใจจะคิดคำบูชาเป็นภาษาบาลีถวายพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญสูงสุดของชาติ ก็ควรจะใช้คำที่ถูกต้องตามหลักภาษาบาลีและมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านชัดเจน ไม่ควรสับสนปนเปกันเช่นนี้

สมัยโบราณ ความรู้ภาษาบาลียังไม่แพร่หลายไปในหมู่ประชาชน คำสวดที่เป็นภาษาบาลีจึงคลาดเคลื่อนได้ง่ายทั้งการออกเสียงและกระทบไปถึงการสะกดคำ คำบาลีหลายคำถูกออกเสียงให้มีความหมายเป็นคำไทย อันเป็นที่มาของคาถาอาคมที่มักมีคำไทยประสมกับบาลีดังเป็นที่ทราบกัน

ปัจจุบันนี้การศึกษาภาษาบาลีในเมืองไทยแพร่หลายเป็นปึกแผ่นแล้ว ปัญหาภาษาบาลีที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนถึงขนาดนี้ และกับบุคคลสำคัญระดับนี้ จึงไม่ควรมี

อาจเป็นไปได้ที่ผู้คิดคำบูชานี้คิดขึ้นเป็นการส่วนตัวตามความเข้าใจของตนเอง ไม่ได้ประสงค์จะให้ใครอื่นเอาไปใช้ เพียงแต่มีผู้ไปพบเห็นเข้าแล้วนำมาเผยแพร่ตามธรรมชาติของสังคมในยุคไฮเทค เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อเตือนใจว่าจะต้องมีความรอบคอบกันให้มากขึ้น

ที่นำเรื่องนี้มาเขียน มีเจตนาเพียงเพื่อชี้ให้เห็นข้อบกพร่องในภาษาบาลีที่ปรากฏตัวสู่สายตาของสังคมเท่านั้น มิได้ตั้งใจจะกล่าวโทษหรือตำหนิท่านผู้ใดทั้งสิ้น

หากที่เขียนมานี้เป็นเหตุให้ท่านผู้ใดผู้หนึ่งเกิดความไม่สบายใจ ผู้เขียนบาลีวันละคำขอประทานอภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความตั้งใจดี เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

: แต่ถ้าวิธีการเสีย ย่อมไม่ใช่ล้มเหลวแค่ครึ่งเดียว

————

(ตอบคำถามของ Pungnoy Rajburi)

18-6-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย