บาลีวันละคำ

ถึงฆาต (บาลีวันละคำ 2,025)

ถึงฆาต

คำไทยผสมบาลี

ประกอบด้วยคำว่า ถึง + ฆาต

อ่านว่า ถึง-คาด

(๑) “ถึง

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ถึง ๑ : (คำกริยา) บรรลุจุดหมาย เช่น เมื่อไรจะถึง ไปถึงบ้าน; รับนับถือ, ยึดถือ, เช่น ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก; มากพอ เช่น ถึงเกลือ ถึงนํ้าตาล ถึงเครื่อง; จนกระทั่ง เช่น ถึงนํ้าตาตก ถึงลุกไม่ขึ้น, ถึงแก่ หรือ ถึงกับ ก็ว่า; บรรลุระดับที่กำหนด เช่น มีความรู้ไม่ถึง ฝีมือไม่ถึง. (คำบุรพบท) สู่, กระทั่ง, ยัง, เช่น เรื่องนี้ถ้ารู้ถึงผู้ใหญ่จะไม่ดี เมื่อวานนี้เธอไม่มา ทุกคนต่างก็พูดถึงเธอ; ใช้เป็นคำจ่าหน้าในจดหมายระบุตัวผู้รับ. (คำสันธาน) แม้ เช่น ถึงเขาจะเป็นเด็ก เขาก็มีความคิด; (ภาษาปาก) จึง เช่น ทำอย่างนี้ถึงจะดี.”

(๒) “ฆาต

บาลีอ่านว่า คา-ตะ รากศัพท์มาจาก หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง หนฺ เป็น ฆาต

: หนฺ+ = หน > ฆาต แปลตามศัพท์ว่า “การเบียดเบียน” หมายถึง การทำให้ตาย, ฆาตกรรม; การประหาร, การทำลาย, การปล้น (killing, murdering; slaughter, destruction, robbery)

ในทางหลักภาษา “ฆาต” อาจแปลได้หลายลักษณะ คือ

– การทำให้ตาย

– การฆ่า

– ผู้ทำให้ตาย

– ผู้ฆ่า

– อุปกรณ์เป็นเครื่องทำให้ตาย

– เครื่องมือฆ่า

– สถานที่เป็นที่ทำให้ตาย

– ที่ฆ่า

– ที่ตาย

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฆาต, ฆาต– : (คำนาม) การฆ่า, การทําลาย. (คำกริยา) ตี เช่น เจ้าวิลาสฆาตกลองเร่งกองรบ. (อภัย).”

คำว่า “ฆาต” ที่เราคุ้นในภาษาไทยก็อย่างเช่น –

ฆาตกรรม” = กรรมคือการฆ่า คือการฆ่ากัน

ฆาตกร” = ผู้ทำให้ตาย คือผู้ฆ่า

ปิตุฆาต” = การฆ่าพ่อ

มาตุฆาต” = การฆ่าแม่

คำว่า “พิฆาต” = ฆ่า, ทำลายล้าง ก็มาจาก “ฆาต” คำนี้

ถึง + บวก = ถึงฆาต เป็นคำประสมแบบไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ถึงฆาต : (คำกริยา) ถึงที่ตาย เช่น ชะตาถึงฆาต.”

…………..

อภิปราย :

คำว่า “ถึงฆาต” ในภาษาไทยมักใช้ในกรณีที่เป็นการตายผิดปกติ เช่นผู้นั้นยังไม่สมควรตาย แต่ไปทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเข้า หรือไปอยู่ในเหตุการณ์หรือสถานที่ซึ่งมีเหตุเกิดทำให้ต้องตาย (ถ้าไม่ทำเหตุเช่นนั้น หรือไม่ไปอยู่ในเหตุการณ์หรือสถานที่นั้น ก็จะยังไม่ตาย)

โดยปกติคำว่า “ถึงฆาต” มักหมายถึงตายเพราะถูกกระทำ ถ้าตายตามปกติ เช่นเจ็บป่วยตาย เราก็ไม่เรียกว่า “ถึงฆาต

คำว่า “ถึงที่ตาย” ควรหมายถึงประสบเหตุร้ายแรงถึงระดับที่สามารถทำให้ตายได้ (ถ้าไม่ร้ายแรงถึงระดับนั้นก็จะยังไม่ตาย)

แต่ก็มีผู้ตีความคำว่า “ที่” ว่าหมายถึง “สถานที่” คำว่า “ถึงที่ตาย” ก็หมายถึง ไปถึงหรือไปอยู่ ณ สถานที่ตรงนั้นพอดี จึงมีเหตุทำให้ตาย

มีเรื่องเล่าประกอบต่อไปด้วยว่า นักเลงโตคนหนึ่งมีของขลังอยู่ยงคงกระพัน ปืนยิงไม่ออก วันหนึ่งไปถูกยิงตาย ณ สถานที่แห่งหนึ่ง จึงเกิดสงสัยกันขึ้นว่าทำไมจึงถูกยิงตายได้ ผู้พิสูจน์ได้เคลื่อนศพนักเลงโตออกไปให้พ้นสถานตรงนั้นแล้วทดลองยิง ปรากฏว่ายิงไม่ออก แต่เมื่อเคลื่อนศพมาไว้ตรงที่เดิมแล้วยิงใหม่ คราวนี้ยิงออก ได้ทดลองทำซ้ำหลายรอบก็คงได้ผลเป็นเช่นนั้น จึงได้ข้อยุติว่า “ที่ตาย” ของเขาอยู่ตรงนั้น เมื่อมาถึงตรงนั้นแล้วถูกยิงพอดี ปืนจึงยิงออก จึงเกิดเป็นคำพูดว่า “ถึงที่ตาย” หรือ “ถึงฆาต

มีกลอนบทหนึ่ง ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใดแต่งหรืออยู่ในหนังสือเรื่องอะไร มีผู้นำไปอ้างอิงกันทั่วไป แต่ถ้อยคำวิปลาสไปต่างๆ จนไม่ทราบว่าต้นฉบับแท้ๆ ว่าอย่างไร ผู้เขียนบาลีวันละคำจำมาได้สำนวนหนึ่งซึ่งก็คงจะวิปลาสจากต้นฉบับอยู่บ้าง ความว่าดังนี้ –

…………..

ไม่ถึงที่ก็ไม่ตายวายชีวาตม์

ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญ

ถึงที่ตายก็ต้องตายวายชีวัน

ใครไม่ทันทำร้ายก็ตายเอง

…………..

เฉพาะวรรคสุดท้ายนั้นมีผู้แปลงเป็น “ไม้จิ้มฟันแทงเหงือกยังเสือกตาย” ซึ่งน่าจะเป็นการแต่งล้อของเดิมเล่นสนุกๆ แต่ปรากฏว่ากลายเป็นคำที่นำไปอ้างอิงกันมากที่สุด จนถึงกับมีคนจำนวนมากเชื่อว่าสำนวนเดิมแท้แต่งไว้แบบนี้

ขอฝากญาติมิตรที่รักทางกาพย์กลอนช่วยกันสืบหาแหล่งที่มาของกลอนบทนี้ เพื่อจะได้นำไปอ้างอิงให้ถูกต้องตามต้นฉบับต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะตายเพราะสาเหตุอันใดก็ช่างเถิด

: เพียงขอให้รับรู้ว่าการเกิด-ก็คือการยื่นใบสมัครตาย

——————

(โดยอนุมัติของ Zamar Sib Oon)

#บาลีวันละคำ (2,025)

28-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย