เจ็ดชั่วโคตร (บาลีวันละคำ 1,879)
เจ็ดชั่วโคตร
นับอย่างไร
คำว่า “โคตร” ในคำว่า “เจ็ดชั่วโคตร” บาลีเป็น “โคตฺต” (โคด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) โค (ชื่อ, ความรู้, ชื่อเสียง) + ตา (ธาตุ = รักษา) + อ ปัจจัย, ซ้อน ต, ลบสระที่สุดธาตุ (ตา > ต)
: โค + ตา = โคตา > โคต + ต = โคตฺต + อ = โคตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่รักษาชื่อและความรู้ไว้” “เชื้อสายที่รักษาชื่อเสียงไว้”
(2) คุปฺ (ธาตุ = รักษา, คุ้มครอง) + ต ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ, แผลง อุ ที่ คุ-(ปฺ) เป็น โอ (คุปฺ > โคปฺ), แปลง ป เป็น ต
: คุปฺ + ต = คุปฺต > โคปฺต > โคตฺต แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายอันเขาคุ้มครองไว้”
“โคตฺต” หมายถึง เชื้อสาย, วงศ์, ตระกูล, เทือกเถาเหล่ากอ, เผ่าพันธุ์ (ancestry, lineage)
“โคตฺต” ในบาลี เป็น “โคตฺร” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“โคตฺร : (คำนาม) ‘โคตร์’ กุล, วงศ์, วงศาวลี, สันตติ, ญาติ; นาม, ชื่อ; อรัณย์, ป่า; เกษตร์, นา; ฉัตร, ร่ม; มารค, ทาง; ความรู้สึกถึงอนาคตกาล, ความล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคต; เภท, ประเภท, ชนิด; ชาติ์, วรรค, อุปศาขาหรือประวิภาคชาติ์ลงเปนวงศ์, เช่นในวงศ์พราหมณ์พึงนับได้ยี่สิบสี่โคตร์, คาดกันว่าเกิดจากและได้นามตามประสิทธาจารย์, ดุจศาณฺฑิลฺย (โคตร์), กาศฺยป (โคตร์), เคาตม (โคตร์), ภรัชฺวาท (โคตร์), ฯลฯ; วรรธนะ, วรรธนการ; ธน, ทรัพย์, สมบัติ; ภูมณฑล, โลก; โคกุล, ฝูงโค; บรรพต; family, race, lineage, kin; a name, an appellation; a forest; a field; an umbrella or parasol; a road, a way; knowledge of futurity, inspiration; genus, a class or species; a caste, a tribe, a subdivision of tribe into families, as in that of the Brahman twenty-four Gotras are reckoned, supposed to be sprung from and named after celebrated teachers, as Śāṇḍilya (gotra), Kāśyapa (gotra), Gautama (gotra), Bharadwāj (gotra), &c.; increase; wealth, riches, property; the earth; a herd of kine; a mountain.”
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “โคตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โคตร, โคตร– : (คำนาม) วงศ์สกุล, เผ่าพันธุ์, ต้นสกุล, เช่น โคตมโคตร; คํานี้บางทีก็นําไปใช้ในความหมายไม่สุภาพหรือเป็นคําด่า เช่น ก่นโคตร. (ส. โคตฺร; ป. โคตฺต ว่า โรงวัว, คอกวัว, วงศ์, ตระกูล).”
เนื่องจาก “โคตร” มักมีการสืบสาวไปจนถึงรากเหง้าหรือเทือกเถาเหล่ากอ คำนี้จึงมีนัยหมายถึงการเข้าถึงจุดใจกลางหรือที่สุดของสิ่งนั้นๆ ในภาษาปากจึงนิยมใช้ในความหมายว่า ลึกซึ้งที่สุด มากที่สุด หนักหนาสาหัสที่สุดของสิ่งนั้นๆ
คำว่า “เจ็ดชั่วโคตร” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เจ็ดชั่วโคตร : (คำนาม) วงศ์สกุลที่สืบสายโลหิต ซึ่งนับตั้งแต่ตัวเองขึ้นไป ๓ ชั้น คือ ชั้นพ่อ ชั้นปู่ และชั้นทวด กับนับจากตัวเองลงมาอีก ๓ ชั้น คือ ชั้นลูก ชั้นหลาน และชั้นเหลน รวมเป็นเจ็ดชั่วโคตร ไม่นับผู้หญิงรวมด้วย.”
ในวินัยของสงฆ์ มีระเบียบอยู่ข้อหนึ่งว่า ภิกษุจะขอสิ่งของใดๆ จากชาวบ้านมิได้ ยกเว้นขอกับคนที่เป็นญาติและคนที่ปวารณา (ปวารณา: ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้)
วิธีนับ “ญาติ” ในวินัย ท่านให้นับ 7 ชั้น คือ นับทางมารดาก็ดี ทางบิดาก็ดี ชั้นตนเองเป็น 1 ข้างบน 3 คือ 1 ชั้นพ่อแม่ 2 ชั้นปู่ย่าตายาย 3 ชั้นทวด, ข้างล่าง 3 คือ 1 ชั้นลูก 2 ชั้นหลาน 3 ชั้นเหลน รวมเป็น 7 ชั้น เรียกว่า 7 ชั่วคน หรือ 7 ชั่วโคตร
คำว่า “เจ็ดชั่วโคตร” ในภาษาบาลี ใช้คำว่า “สตฺตมกุลปริวฏฺฏ” (สัด-ตะ-มะ-กุ-ละ-ปะ-ริ-วัด-ตะ) แยกศัพท์เป็น สตฺตม + กุล + ปริวฏฺฏ
สตฺตม = ลำดับที่เจ็ด
กุล = ตระกูล
ปริวฏฺฏ (ปริ + วฏฺฏ) = รอบ, การเวียน, วงกลม. สืบลำดับ (round, circle, succession)
สตฺตมกุลปริวฏฺฏ = วงรอบคนในตระกูลลำดับที่เจ็ด > 7 ชั่วคน
ตัวอย่างเช่นในข้อความว่า –
ตานิ กิร เทฺวปิ กุลานิ ยาว สตฺตมา กุลปริวฏฺฏา อาพทฺธปฏิพทฺธสหายกาเนว.
ได้ยินว่าตระกูลทั้ง 2 นั้นได้เป็นสหายเกี่ยวพันสืบเนื่องกันมาถึง 7 ชั่วตระกูลทีเดียว.
ที่มา: สัญชยวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1 หน้า 80
7 ชั่วตระกูล = เจ็ดชั่วโคตร
โปรดสังเกตว่า “เจ็ดชั่วโคตร” ภาษาบาลีใช้คำ “กุล” (ตระกูล) ไม่ใช่ “โคตฺต” (โคตร)
…………..
ดูก่อนภราดา!
จะมีสักกี่คนที่สำนึกได้ว่า –
: การเวียนว่ายตายเกิดคือการถูกลงโทษ
: หนักยิ่งกว่าเจ็ดชั่วโคตรร้อยเท่าพันทวี
1-8-60