เบญจกัลยาณี (บาลีวันละคำ 2,062)
เบญจกัลยาณี
อ่านว่า เบน-จะ-กัน-ละ-ยา-นี
ประกอบด้วย เบญจ + กัลยาณี
(๑) “เบญจ”
บาลีเป็น “ปญฺจ” (ปัน-จะ) แปลว่า ห้า (จำนวน 5) ในภาษาไทยนิยมแปลงเป็น “เบญจ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เบญจ-, เบญจะ : (คำวิเศษณ์) ห้า, ลําดับที่ ๕ เช่น นาเบญจะ หัวเมืองเบญจะ. (ป. ปญฺจ; ส. ปญฺจนฺ), มักใช้เป็นส่วนหน้าสมาส.”
(๑) “กัลยาณี”
บาลีเป็น “กลฺยาณี” มาจาก กลฺยาณ + อี ปัจจัย
(ก) “กลฺยาณ” (กัน-ลฺยา-นะ) รากศัพท์มาจาก กลฺย (เหมาะสม, ดีงาม) + อณฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ (กลฺ)-ย เป็น อา
: กลฺย + อณฺ = กลฺยณ + ณ = กลฺยณณ > กลฺยณ > กลฺยาณ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กรรมที่ถึงความปราศจากโรค” (คือไม่เจ็บไม่ป่วย แข็งแรง = ดีงาม) (2) “กรรมที่ยังบุคคลให้ถึงประโยชน์เกื้อกูล”
“กลฺยาณ” มีความหมายหลายอย่าง คือ –
(1) งดงาม, ดีงาม, มีเสน่ห์, เป็นศุภมงคล, เป็นอนุเคราะห์, มีประโยชน์, มีคุณธรรมดี (beautiful, charming; auspicious, helpful, morally good)
(2) สิ่งที่ดีหรือมีประโยชน์, ของดีต่างๆ (a good or useful thing, good things)
(3) ความดี, คุณธรรม, บุญกุศล, กุศลกรรม (goodness, virtue, merit, meritorious action)
(4) ความกรุณา, ความอุปการะ (kindness, good service)
(5) ความงาม, ความสะดุดตาหรือดึงดูดใจ, ความสมบูรณ์พร้อม (beauty, attraction, perfection)
“กลฺยาณ” ภาษาไทยใช้เป็น “กัลยาณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กัลยาณ– : (คำวิเศษณ์) งาม, ดี, ใช้เป็นบทหน้าสมาส เช่น กัลยาณคุณ = คุณอันงาม กัลยาณธรรม = ธรรมอันดี กัลยาณมิตร = มิตรดี. (ป., ส.).”
(ข) กลฺยาณ + อี ปัจจัย = กลฺยาณี แปลว่า “ผู้มีความงาม”
“กลฺยาณี” ภาษาไทยใช้เป็น “กัลยาณี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กัลยาณี : (คำนาม) นางงาม, หญิงงาม. (ป., ส.).”
ปญฺจ + กลฺยาณี = ปญฺจกลฺยาณี > เบญจกัลยาณี
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เบญจกัลยาณี : (คำวิเศษณ์) ที่มีลักษณะงาม ๕ ประการ คือ ๑. ผมงาม ๒. เนื้องาม (คือ เหงือกและริมฝีปากแดงงาม) ๓. ฟันงาม ๔. ผิวงาม ๕. วัยงาม (คือ งามสมวัย), เรียกหญิงที่มีลักษณะเช่นนั้น ว่า หญิงเบญจกัลยาณี. (ป. ปญฺจกลฺยาณี).”
ในคัมภีร์แสดงรายการ “ปญฺจกลฺยาณี” ไว้ดังนี้ –
(1) เกสกลฺยาณ = ความงามของผม (beauty of hair)
(2) มํสกลฺยาณ = ความงามของเนื้อ (beauty of flesh) (“มํส” ในที่นี้หมายถึงริมฝีปาก)
(3) อฏฺฐิกลฺยาณ = ความงามของกระดูก (beauty of bones) (“อฏฺฐิ” ในที่นี้หมายถึงฟัน)
(4) ฉวิกลฺยาณ = ความงามของผิว (beauty of complexion)
(5) วยกลฺยาณ = ความงามของความเป็นหนุ่มสาว (charm of youth)
บุคคลในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่มีคำสรรเสริญว่ามีลักษณะเป็น “เบญจกัลยาณี” ที่เลื่องลือ คือ นางวิสาขา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เบญจกัลยาณีก็ยังมีวันโรยรา
: หัวใจที่งามตามธรรมดาเป็นอมตะตลอดกาล
#บาลีวันละคำ (2,062)
3-2-61